กฟผ. 14 มี.ค. – กฟผ.พร้อมส่งเสริมพลังงานทดแทนภาคใต้ แต่โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนไม่ตอบโจทย์ด้านความมั่นคง หลังน้ำท่วมใต้ปี 59 ราคาปาล์มแพง กำลังผลิตไฟฟ้าชีวมวลลดฮวบ
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า จากคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ใหม่นั้น ทาง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขอให้ กฟผ.ถอนผลการศึกษาออกมาก่อน เพื่อเริ่มต้นดำเนินการใหม่และจะใช้เวลา 2-3 เดือน หรือประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ จึงจะสามารถเริ่มต้นใหม่ โดยต้องหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่า จะต้องทำอะไรเพิ่มบ้าง ซึ่งการจัดทำอีไอเอและอีเอชไอเอ จะใช้เวลา 2 ปี ถึง 2 ปีครึ่ง หลังจากนั้นจึงจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งใช้เวลา 4 ปี โดยคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเร็วสุดปี 2567 ล่าช้าจากเดิมปี 2564
ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เฟส 1 ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอีไอเอและอีเอชไอเอ ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) คาดว่า จะผ่านการอนุมัติเดือนพฤษภาคมนี้ แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าอาจล่าช้าออกไปจากแผนประมาณ 2 ปี หรือปี 2566 จากเดิมคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เนื่องจากยังมีขั้นตอนพิจารณาอื่น ๆ ก่อนขอการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.)อีก 18 -24 เดือน อีกทั้งยังติดปัญหาเวนคืนที่ดิน ซึ่งต้องใช้เวลาในการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เวนคืนที่ดิน อีก 1 ปี
“ที่ กฟผ.เสนอสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อความมั่นคง ต้นทุนต่ำ ดูอย่างมาเลเซียผลิตก๊าซและน้ำมันเพื่อส่งออก อย่างมาเลเซียยังเพิ่มสัดส่วนใช้ถ่านหินผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 30 ขณะที่ไทยอยู่ที่ร้อยละ 19 ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่หลายฝ่ายเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ไม่ตอบโจทย์เรื่องการสร้างความมั่นคง เห็นชัดปีที่แล้วจากเหตุน้ำท่วม ราคาปาล์มแพง ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าชีวมวลลดลงอย่างฮวบฮาบ” นายกรศิษฏ์ กล่าว
นายอดุลย์ พิทักษณ์ชาติวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ.กล่าวว่า พร้อมส่งเสริมพลังงานทดแทนในภาคใต้ โดยการรับซื้อผู้กำหนดนโยบาย คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขณะที่ กฟผ.พร้อมรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ ) ที่มีปริมาณเหลือจากการจำหน่ายเพื่อบริโภคไปใช้ผสมในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่ แม้ว่าต้นทุนจะสูงกว่าดีเซลเท่าตัวก็ตาม ส่วนที่มีข้อเสนอให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในกระบี่ 1,000 เมกะวัตต์ โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และชีวมวล ชีวภาพนั้น ในส่วนของแสงอาทิตย์ที่ภาคใต้ก็มีปัญหาเรื่องปริมาณแดดต่ำ เพราะฝนตกปริมาณสูงตามที่มีการเรียกกันว่า “ฝนแปดแดดสี่” ส่วนพลังงานชีวมวลไม่ว่าจะเป็นทลายปาล์มหรืออื่น ๆ ก็พบว่าปริมาณไม่เพียงพอ และเกิดปัญหาจากสภาพอากาศและราคาผลผลิตทางการเกษตร โดยจากการเก็บตัวเลขการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตภาคเอกชน ขนาดเล็กมาก (วีเอสพีพี) ในภาคใต้ปี 2559 มีกำลังผลิตประมาณ 250 เมกะวัตต์ 76 โรง มีกำลังผลิตเพียงร้อยละ 6.6 -25.8 ของกำลังผลิตตามสัญญา ขณะที่ปี 2558 มีกำลังผลิตประมาณ 150 เมกะวัตต์ 60 โรง มีกำลังผลิตเพียงร้อยละ 23.8 -46.5 ของกำลังผลิตตามสัญญา เช่น กรณีศึกษาในส่วนของบริษัท ท่าฉางสวนปาล์มอุตสาหกรรม มีกำลังผลิต 7.2 เมกะวัตต์ พบว่ามีความไม่แน่นอนในการผลิตสูงมากจากปัญหาปริมาณเชื้อเพลิงแต่ละปี โดยปี 2559 ตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคมไม่มีการผลิตไฟฟ้าแต่อย่างใด. – สำนักข่าวไทย