กทม.14 มี.ค.-กทม.สันนิษฐาน 3 สาเหตุ ปลาในคลองระบายน้ำริมถนนวิภาวดีฯ ลอยตาย ‘ค่าออกซิเจนต่ำกว่าค่ามาตรฐาน-อากาศร้อน-ค่าแอมโมเนียในน้ำสูง’ ขอความร่วมมือประชาชนอย่าทิ้งน้ำเสียลงคลอง
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)เปิดเผยว่า ปลาจำนวนมากที่ลอยตาย ภายในคลองระบายน้ำ ริมถนนวิภาวดีรังสิต หน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เจ้าหน้าที่ได้นำปลาที่ตายไปฝังกลบแล้ว พร้อมสั่งให้สำนักการอนามัย สำนักการระบายน้ำ ตรวจสอบคุณภาพน้ำ และสาเหตุการตายของปลา ซึ่งจากผลตรวจคุณภาพน้ำ เบื้องต้น พบค่าออกซิเจนในน้ำอยู่ที่ 0.04 มิลลิกรัมต่อลิตร ต่ำกว่าค่ามาตราฐาน 6 มิลลิ กรัมต่อลิตร ประกอบกับอากาศที่ร้อน ทำให้อุณหภูมิในน้ำสูงถึง 32 องศาเซลเซียส และพบค่าแอมโมเนียในน้ำสูงถึง 16.4 มิลลิกรัมต่อลิตร สูงกว่าค่าปกติ 10 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ปลาตายน่าจะเกิดจาก 3 ข้อสันนิษฐานดังกล่าว
นายจักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า สำหรับค่าแอมโมเนียที่ตรวจพบนั้น เกิดจากไขมันที่สะสมในน้ำปริมาณมาก คาดว่าเกิดจากบ้านเรือนที่ปล่อยน้ำเสียลงมา ประกอบกับในช่วงฤดูร้อน ทำให้กรมชลประทานปล่อยน้ำลงมาไม่เพียงพอต่อการไล่น้ำเสีย จึงเห็นได้ว่า ระดับน้ำในคลองมีน้อย น้ำนิ่ง ไม่เกิดการไหลเวียนของน้ำตามระบบนิเวศน์ ขอความร่วมมือประชาชนอย่าปล่อยน้ำเสียลงในคลอง พร้อมยืนยัน ไม่เกี่ยวกับการปิดประตูระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำในช่วงพายุฤดูร้อน
ผู้สื่อข่าวถามถึง การวางเสาแข็ม หรือ ตอหม้อ เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าทำให้ปิดทับท่อระบายน้ำ ส่งผลต่อการไหลเวียนของน้ำ อาจเป็นสาเหตุให้ปลาตายหรือไม่ นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ตรวจสอบในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ไม่พบเสาเข็มปิดทับทอระบายน้ำแต่อย่างใด แต่ถึงอย่างไรได้สั่งให้สำนักงานเขตบริเวณใกล้เคียง ลงพื้นที่ตรวจสอบประเด็นดังกล่าว หากพบจะรีบประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานแก้ไข
ทั้งนี้ กทม.มีแผนนำข้อบัญญัติของ กทม.ปี 2547 มาใช้ดำเนินการ จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากชุมชน ครัวเรือนละ 30 บาทต่อเดือน ตามชุมชนที่ยังไม่มีโรงบำบัดน้ำเสีย โดยทั่วกรุง มีเพียง 8 โรงเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต่องการบำบัดน้ำเสีย หลังจากนี้ กทม.จะดำเนินการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มอีก 4 โรง พร้อมตั้งเป้าใน 50% ของพื้นที่ กทม.ต้องมีโรงบำบัดน้ำเสียถึง 27 โรง ซึ่งหากพื้นที่ใดก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย แล้วเสร็จ จะยกเลิกการจัดเก็บค่าขยะ .-สำนักข่าวไทย