ยธ.16มี.ค.-รองปลัดฯยธ.เผยกรณีเด็กนักเรียน 2 คนพังห้องเรียนอายุไม่ถึง 10 ขวบตามกม.อาญาไม่ต้องรับโทษ แต่ควรส่งให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯพื้นที่ดูแล ด้านเลขา กพฐ.มอบผอ.ศูนย์เฉพาะกิจ สพฐ.ตรวจสอบข้อเท็จจริง กำชับครูดูแลเด็กใกล้ชิด
จากกรณีมีนักเรียน 2 คนอายุ 8 ขวบและ 9 ขวบ ชั้น ป.3 และป.4 โรงเรียนแห่งหนึ่งในตัวเมือง จ.ศรีสะเกษ ทำลายทรัพย์สินของโรงเรียนพังเสียหายยับเยิน ก่อนพ่อแม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 40,000 บาทนั้น
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กล่าวว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 บัญญัติว่าเด็กอายุยังไม่เกิน 10 ปีกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ และให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กไปให้ เจ้าหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดศรีสะเกษ แต่หากดูพฤติการณ์แห่งคดี ก็ถือว่าเด็กดังกล่าวเป็นเด็กที่พึงได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพตามมาตรา 40(2) เนื่องจากเป็นเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด
ซึ่งตามมาตรา 44 กำหนดว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพได้รับแจ้งจากผู้พบเห็นเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด ให้สอบถามเด็กและดำเนินการหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเด็ก รวมทั้งสภาพความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและความประพฤติของเด็กเพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและถ้าเห็นว่าจำเป็นต้องคุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็ก โดยวิธีส่งเข้าสถานคุ้มครองสวัสดิภาพหรือสถานพัฒนาและฟื้นฟู ให้เสนอประวัติพร้อมส่งความเห็นไปยังผู้ว่าฯศรีสะเกษ เพื่อพิจารณาสั่งให้ใช้วิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพที่เหมาะสมแก่เด็ก ในกรณีเจ้าหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามเห็นว่าเด็กจำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์ก็ให้พิจารณาตามแต่ถ้าเห็นว่ายังไม่สมควรส่งตัวไปยังสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ ให้ส่งตัวเด็กแก่ผู้ปกครองดูแล โดยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด
ส่วนค่าเสียหาย 40,000บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อผู้เยาว์ทำความผิด ให้เกิดความเสียหายเกิด ซึ่งเป็นการละเมิดผู้อื่น ผู้เยาว์ยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่ผู้ที่ถูกทำละเมิด แต่เมื่อไม่มีความสามารถในการชดใช้ค่าเสียหาย จึงกำหนดให้มีผู้ที่ต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ ตามมาตรา 420 และ 429 ซึ่งกำหนดให้บิดามารดา ผู้แทนโดยชอบธรรม ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจปกครองและมีหน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
อย่างไรก็ตามกรณีเด็ก 2คนนั้นสนุกสนานมากเกินเหตุ ต้องฝากผู้ปกครองดูแลช่วยเหลือในฐานะที่จะเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป แต่หากกระบวนการดูแลช่วยเหลือนั้น เป็นไปในทางที่ผิด เด็กทั้ง 2 คนก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมที่ร้ายแรงได้ในอนาคต
ด้านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขา กพฐ.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยถึงกรณีดังกล่าว ว่า ได้มอบให้นายธีร์ ภวังคนันท์ ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(ฉก.ชน.สพฐ.) ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผอ.โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือและกำชับให้ครูดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพราะอยู่ในช่วงวัยที่มักเล่นสนุกสนานจนไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่ตามมา.-สำนักข่าวไทย