พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 27 ม.ค.- กรมศิลปากร เผยการก่อสร้างพระเมรุมาศคืบหน้าตามลำดับ เบื้องต้นอยู่ระหว่างปรับหน้าดิน เตรียมลงเสาเอกปลายเดือนมีนาคม
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แถลงความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและการบูรณะปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระ บาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการขุดดิน ปรับพื้นที่ เกลี่ยหน้าดินให้อยู่ในระดับเสมอกันทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่สนามหลวงมีลักษณะเป็นเนินคล้ายหลังเต่า ซึ่งการก่อสร้างพระเมรุมาศ พระที่นั่งทรงธรรมและหมู่อาคารในมณฑลพิธีต้องอยู่ในระดับเดียว กัน ด้านการก่อสร้างโรงขยายแบบ การปั้นหุ่นต้นแบบประดับพระเมรุมาศ ก็มีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งจะสามารถประเมินได้ชัดเจนว่าดำเนินการไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ในช่วงลงเสาเอกประมาณปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายน ตั้งแต่มีการปักหมุดกำหนดจุดสร้างพระเมรุมาศ ไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 การดำเนินก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศ จะลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าอีกครั้ง ตอนนี้อยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น คือการก่อสร้างพระเมรุมาศและพระที่นั่งทรงธรรม ส่วนงานด้านอื่นๆจะเริ่มในระยะถัดไป เพราะการสร้างพระเมรุมาศต้องเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ
นอกจากนี้ยังจะมีการตัดถนนใหม่ในการอัญเชิญพระมหาพิชัยราชรถตรงช่วงที่เคยเป็นเต็นท์พักคอยของประชาชนที่เดินทางมารอกราบถวายบังคมพระบรมศพ และจะมีการย้ายต้นมะขามจำนวน 50 ต้น ออกจากบริเวณนั้นด้วย โดยจะมีการจัดทำพันธุกรรมของมะขามต้นนั้นๆไว้ด้วยโดยนัก พฤษศาสตร์ กทม.เป็นผู้ดูแลพื้นที่ ป้องกันหากต้นมะขามเกิดตายหรือเกิดอุบัติเหตุในช่วงขนย้าย เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีจะนำกลับมาไว้ยังจุดเดิม และจะมีการประชุมหารือกันอีกครั้ง จะแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการเป็นระยะ พื้นที่ก่อสร้างพระเมรุมาศและหมู่อาคาร จะใช้พื้นที่สนามหลวงฝั่งทิศใต้เกือบ80% และฝั่งทิศเหนือจะใช้สำหรับเวทีมหรสพ คาดว่าจะแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนดภายในเดือนกันยายน
สำหรับการวางผังอาคารพระเมรุมาศ ในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ซึ่งการวางผังอาคารเชื่อมโยงสัมพันธ์กับศาสนสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโก
สินทร์ โดยแกนแนวทิศเหนือและทิศใต้ เป็นแนวแกนเดียวกับรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แนวแกนทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นแนว แกนเดียวกับพระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร พระเมรุมาศมีการวางผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร สูง 50.49 เมตร พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด บนฐานชาลา 3 ชั้น ตรงกลางบุษบกประธานประดิษฐานพระจิตกาธาน พระเมรุมาศประดับด้วยเทวดาและสัตว์หิมพานต์ มีแนวความคิดตีความเชิงสัญลักษณ์ตามผังภูมิศาสตร์ตามปรัชญาและคติความเชื่อของไทย ภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้าทางเข้ามณฑลพิธีด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีแนวคิดในการจัดภูมิทัศน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยนำเสนอการจัดการพื้นที่พืชพรรณและเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พันธุ์ไม้ภายนอกรั้วราชวัตรนำ มาจากพันธุ์ไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริต่างๆ อาทิ พันธุ์ข้าวพระราชทานหญ้าแฝก ต้นยางนา มะม่วงมหาชนก ภายในรั้วราชวัตร วางแนวคิดในการเลือกพันธุ์ไม้สะท้อนถึงสรวงสวรรค์ตามคติโบราณและพันธุ์ไม้สีเหลืองขาว เพื่อสื่อถึงวันพระราชสมภพ
การจัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศโดยกลุ่มประติมากรรมสำนักช่างสิบหมู่ 1. เทวดายืนรอบพระเมรุมาศจำนวน 12 องค์ เชิญพุ่มโลหะ 4 องค์ เชิญฉัตร 8 องค์ 2.เทวดานั่งรอบพระเมรุมาศจำนวน 46 องค์ เชิญฉัตรบังแทรก 3. พระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม อย่างละ 1 องค์ จำนวน 4 องค์ 4.ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศชั้นที่ 3 จำนวน 4 คู่ 8 ตัว 4 ทิศ 5.ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬ หก 6. สัตว์มงคลพระจันทร์ทิพย์ ช้าง ม้า วัว สิงห์ ประดับทางขึ้นบันไดชั้นที่ 1 ประจำทิศ ทิศละ 1 คู่ จำนวน 8 ตัว ขณะนี้ออกแบบลายเส้น ปั้นต้น แบบแล้ว เพื่อรอขยายแบบเท่าขนาดจริง ก่อนใส่เครื่องประดับเก็บรายละ เอียด ทำพิมพ์ หล่อชิ้นงาน ตกแต่งชิ้นงาน ลงพื้นและเขียนสี ลงสีทอง ปิดทองคำเปลว ประดับแวว และติดตั้งประกอบพระเมรุมาศ
สำหรับความคืบหน้าการบูรณะปฏิสังขรณ์ ราชรถราชยาน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2560 โดยเจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่ได้ดำเนินการกระเทาะกระจกบริเวณหน้ากระดานฐานล่างพระมหาพิชัยราชรถ และถอดส่วนประกอบพระที่นั่งราเชนทรยาน เพื่อนำไปบูรณะยังสำนักช่างสิบหมู่ เจ้าหน้าที่กรมสรรพาวุธทหารบก ดำเนินการถอดช่วงล่างราชรถน้อย และเจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่ถอดชิ้นส่วน บริเวณเกรินราชรถ ขนย้ายไปทำการบูรณะยังสำนักช่างสิบหมู่ โดยจำแนกงานดังนี้
1.เจ้าหน้าที่กลุ่มช่างแกะสลักและช่างไม้ประณีตดำเนินการถอดเทพพนมชั้นเกรินพระมหาพิชัยราชรถ และดำเนินการปรับพื้นที่ส่วนชั้นวางกระจังเดิม และทัณฑ์เทพพนมราชรถน้อย 2.เจ้าหน้าที่กลุ่มช่างปิดทอง แปะประดับกระจก ดำเนินการถอดเฟืองและยอดพุ่มข้าวบิณฑ์พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตรราชรถ ราชรถน้อย 3.เจ้าหน้าที่กลุ่มทั้งปิดทองและประดับกระจก ดำเนินการกะเทาะกระจกที่ชำรุดโดยรอบ และตัดกระจกเตรียมไว้สำหรับการประดับกระจกส่วนหน้ากระดานฐานล่างพระมหาพิชัยราชรถ 4. เจ้าหน้าที่กลุ่มช่างแกะสลักและช่างไม้ประณีตดำเนินการปรับพื้นและซ่อมแซมส่วนชั้นวางกระจังเจิม และชั้นเทพพนม ซ่อมแซมส่วนเกรินรถและท้ายเกริน ซ่อมลวดลายส่วนที่เลือนหายให้คมชัดและถอดพระวิสูตรทั้งหมดเพื่อเปลี่ยนใหม่
ขณะที่การรับสมัครอาสาสมัครร่วมปฏิบัติงานจัดสร้างพระโกศจันทน์และงานศิลปกรรมเครื่องประกอบพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตั้งแต่วันที่ 16 -25 มกราคม มีผู้สมัครรวม 228 คน และยังเปิดรับสมัครไปจน ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 จากนั้นจะทำการคัดเลือกโดยทดสอบทักษะความสามารถด้านช่างฝีมือและสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเข้าปฏิบัติงานร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ต่อไป.-สำนักข่าวไทย