รัฐสภา 27 ม.ค.- สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นชอบวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 190,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ รัฐบาลยืนยันจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและโปร่งใส
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 190,000 ล้านบาท โดยนาย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนนี้ เพื่อเร่งพัฒนาตามแผนงานบูรณาการ เสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ แผนบูรณาการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ดำเนินโครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด สนับสนุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กองทุนหมู่บ้านและชุมชนหมู่บ้าน รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง และเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เช่น งบช่วยอุทกภัยภาคใต้ งบช่วยเหลือผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยรัฐบาลยืนยันว่า จะใช้งบประมาณนี้อย่างโปร่งใสและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการ และมองเป็นเรื่องปกติที่ระหว่างปีงบประมาณ จะมีการขอเพิ่มเติมงบประมาณเพื่อใช้ตามสถานการณ์ หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แต่ต้องระมัดระวังเรื่องงบขาดดุล ที่ขณะนี้ วงเงินสูงถึง 6 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลชี้แจงว่า จะสามารถหาเงินมาชดเชยกับงบขาดดุลได้หรือไม่ พร้อมกันนี้ ยังกังวลว่า งบประมาณนี้ จะไม่ลงไปสู่รากหญ้าตามแผนที่กำหนดไว้
จากนั้น ที่ประชุมลงมติรับหลักการวาระแรก ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาพิจารณาวาระ 2 ต่อเนื่อง โดยเป็นการอภิปรายรายมาตรา ซึ่งสมาชิก สนช. ได้สอบถามเกี่ยวกับงบประมาณที่วางไว้สำหรับใช้กรณีจำเป็นเร่งด่วน โดยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ชี้แจงว่า รองรับค่าใช้จ่ายไว้ในกรณีฉุกเฉินที่หน่วยงานไม่ได้รองรับไว้ เช่น กรณีน้ำท่วม โดยสามารถรับผ่านรัฐมนตรีต้นสังกัดในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท หลังจากรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ แต่หากเกิน 10 ล้านบาทถึง100 ล้านบาท อยู่ที่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาเห็นชอบอนุมัติแต่หากเกิน 100 ล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. อภิปราย เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ถึงมือประชาชน ไม่กระจายถึงท้องถิ่นอย่างแท้จริง และมีการนำเงินงบประมาณไปใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์
จากนั้น ที่ประชุม สนช.ได้มีมติเห็นชอบในวาระที่ 2 ซึ่งเป็นการลงมติรายมาตรา และมีมติเอกฉันท์ เห็นชอบวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 163 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย