ระยอง 1 ก.พ. – นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างไม่เป็นทางการ ในโอกาสเดินทางเข้าตรวจเยี่ยมพื้นที่อีอีซี ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ว่า ที่ประชุมติดตามความคืบหน้าแผนปฏิบัติอีอีซี 5 โครงการหลัก ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ ท่าเรือแหลมฉบัง การพัฒนาเมืองใหม่ การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ รถยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดมีการจัดทีมนำบริษัทชั้นนำต่าง ๆ มาลงทุนในไทย เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าจริงโดยเร็ว ทั้งการประกอบรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนและแบตเตอรี่ เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดแผนแม่บทการพัฒนาดังกล่าวจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3 ช่วยสร้างฐานภาษีใหม่ไม่น้อยกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท ลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ปีละ 400,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 100,000 คน ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้บริการสนามบินอู่ตะเภาปีละ 10 ล้านคนขึ้นไป คิดเป็นรายได้ที่เพิ่มไม่น้อยกว่าปีละ 450,000 ล้านบาท ซึ่งเตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้
ส่วนแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาระยะแรก จะประกาศให้เป็นเขตส่งเสริมพิเศษ ซึ่งจะเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารที่ 2 รองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคนต่อปีช่วงกลางปีนี้ ระยะต่อไปมีแผนพัฒนาสนามบินรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนภายใน 5 ปี และตั้งเป้าให้สามารถรองรับผู้โดยสารสูงสุด 60 ล้านคนในอนาคต นอกจากนี้ จะเร่งรัดการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้มีระบบรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิที่ใช้เวลาเดินทางภายใน 40-50 นาที คาดแผนจะเสร็จภายในปีนี้ พร้อมเปิดให้เอกชนร่วมทุนปลายปีนี้ อีกทั้งจะเริ่มลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรภายในกลางปีนี้เช่นกัน รวมถึงเพิ่มคลังสินค้าสนามบิน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน และศูนย์ฝึกอบรบบุคลากรการบิน.
สำหรับความคืบหน้าโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 และท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 อยู่ระหว่างเร่งรัดกระบวนการทำรายละเอียดโครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน (พีพีพี) ในพื้นที่อีอีซี ตั้งเป้าหมายให้สามารถเชื่อมโยงกับรถไฟระหว่างไทย – จีนได้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ กนอ. จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (วัน สต๊อป เซอร์วิส) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง 1 แห่ง และนิคมอุตสากรรมมาบตาพุด 1 แห่ง โดยขอให้ดำเนินการเสร็จโดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย