ซ.อารีย์ 9 ก.พ.-กรมอุทยานฯ พบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก 8 ชนิด หนึ่งในนั้นตั้งชื่อ “sirindhorniana” (สิรินธรเนียน่า ) เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แถลงว่า ได้สำรวจพบพืชชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทยจำนวน 8 ชนิดแต่ละชนิดพบในพื้นที่แตกต่างกัน ซึ่งผ่านการรับรองตีพิมพ์และอยู่ระหว่างการตีพิมพ์ในวารสารด้านพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ โดยพืชพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบ ได้แก่
1.ช้องเจ้าฟ้า(ชื่อพฤกษศาสตร์ Buxus sirindhornianaW. K. Soh , von Sternb., Hodk. & J. Parn. วงศ์ Buxaceae ) เป็นไม้ต้นชนิดใหม่ของโลก ตีพิมพ์โดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์แห่งทรินิตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงดับลิน ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.จอห์น พาร์แนล ซึ่งเป็นกรรมการบรรณาธิการโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) รวมอยู่ในทีมผู้ตั้งชื่อด้วย คำระบุชนิด “sirindhorniana” ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในวารสารดังกล่าวระบุว่าพระองค์ทรงเป็นผู้สนับสนุนอย่างเข้มแข็งในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย
ช้องเจ้าฟ้าพบได้ตามเขาหินปูนตั้งแต่บริเวณชายแดนเมียนมาใน จ.กาญจนบุรี ถึงดอยหัวหมด อ.อุ้มผาง จ.ตาก อุทยานฯแจ้ซ้อน จ.ลำปาง และดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่ พบได้ง่ายและพบมากที่สุดที่ดอยหัวหมด ซึ่งเป็นเขาหินปูนผุกร่อน เป็นแหล่งที่พบพืชชนิดใหม่ของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศมากกว่า 10 ชนิด
โดยตัวอย่างช้องเจ้าฟ้าที่เก่าแก่ที่สุดเก็บโดยหมอคาร์ (A.F.G.Kerr) นายแพทย์ชาวไอริช ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พืชแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพฯ กรมวิชาการเกษตร โดยหมอคาร์ได้เก็บตัวอย่างผลของช้องเจ้าฟ้าจากดอยหัวหมดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2465 เป็นเวลาเกือบร้อยมาแล้ว ซึ่งขณะนี้ตัวอย่างถูกเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ สวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ แม้จะมีการเก็บตัวอย่างมานาน แต่ไม่มีการเขียนตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่เพราะนักพฤกษศาสตร์ไม่แน่ใจว่าจัดอยู่ในสกุลใด เพราะปกติพืชสกุลช้องจะมีรังไข่ 3 ช่อง แต่ช้องเจ้าฟ้ามีรังไข่แค่ 2 ช่อง เมื่อได้มีการศึกษาในระดับชีวโมเลกุลยืนยันได้ว่าช้องเจ้าฟ้าถูกจัดอยู่ในสกุลช้อง จึงมีการตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก
2.ยมหินปูน (ชื่อพฤกษศาสตร์ Toona calcicola Rueangr., Tagane & Suddee วงศ์ Meliaceae ) เป็นไม้ต้นชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามซอกหินปูนที่บริเวณสวนสวรรค์ วนอุทยานสวนหินผางาม อ.หนองหิน จ.เลย
ตีพิมพ์ในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 43 หน้า 79-86 ปี 2015 โดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์จากสำนักหอพรรณไม้ ร่วมกับทีมงานนักพฤกษศาสตร์ญี่ปุ่น
ยมหินปูนมีลักษณะเด่นตรงที่เกสรเพศผู้ไม่เชื่อมติดกันเป็นหลอดเหมือนพืชวงศ์เลี่ยน (Meliaceae) สกุลอื่นๆ ผลลักษณะคล้ายยมหินแต่ใบแตกต่างกันมาก เมื่อใบร่วงมีรอยแผลใบบนกิ่งชัดเจน คำระบุชนิด“calcicola” หมายถึงหินปูนซึ่งเป็นแหล่งที่พืชชนิดนี้ขึ้นอยู่
3.ชะนูดต้นแก่งกระจาน (ชื่อพฤกษศาสตร์ Prunus kaengkrachanensis Nagam., Tagane & Suddee วงศ์ Rosaceae ) พบขึ้นตามป่าดิบเขาบริเวณพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ตีพิมพ์ในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 43 หน้า 43-45 ปี 2015 โดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์สำนักหอพรรณไม้ร่วมกับทีมงานนักพฤกษศาสตร์จากญี่ปุ่น
ชะนูดต้นแก่งกระจานมีลักษณะเด่นที่ผนังผลชั้นในมีขนหนาแน่น ก้านใบมีต่อมที่ด้านในกลวง
4.หญ้าคางเลือยตะนาวศรี (ชื่อพฤกษศาสตร์ Scutellaria tenasserimensis A. J. Paton วงศ์ Lamiaceae ) เป็นไม้พืชล้มลุกชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามเขาหินปูนตามแนว เทือกเขาตะนาวศรีในไทยและเมียนมา ตีพิมพ์ในวารสาร Kew Bulletin เล่มที่ 71(1)-3 หน้าที่ 2 ปี 2016 โดย ดร.อลัน พาร์ตัน แห่งสวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
ในไทยพบหญ้าคางเลือยตะนาวศรีได้ที่บริเวณ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี และดอยหัวหมด อ.อุ้มผาง จ.ตาก
5.หญ้าคางเลือยเขาใหญ่ (ชื่อพฤกษศาสตร์ Scutellaria khaoyaiensis A. J. Paton วงศ์ Lamiaceae ) เป็นไม้พืชล้มลุกชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามป่าดิบเขา โดยเฉพาะบริเวณเขาเขียว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตีพิมพ์ในวารสาร Kew Bulletin เล่มที่ 71(1)-3 หน้าที่ 5 ปี 2016 โดยทีมงานชุดเดียวกันกับที่ศึกษาหญ้าคางเลือยตะนาวศรี
นอกจากนี้ยังพบเป็นพืชตระกูลกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด คือ 6.ว่านแผ่นดินเย็นแม่โขง (ชื่อพฤกษศาสตร์ Nervilia mekongensis S. W. Gale, Schuit. & Suddee วงศ์ Orchidaceae ) โดยเป็นกล้วยไม้ดินชนิดใหม่ของโลก พบตามป่าผลัดใบ พบในไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในลาวตอนเหนือ ในเวียดนามตอนเหนือและตอนใต้ และทางด้านตะวันออกของกัมพูชา ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotaxa เล่มที่ 247(4) หน้า 267-273 ปี 2016 โดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์ไทยและต่างชาติ
7.ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง (ชื่อพฤกษศาสตร์ Nervilia trangensis S. W. Gale, Suddee & Duangjai, sp. nov. ined. วงศ์ Orchidaceae ) พบในป่าดิบชื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่ายและสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง จ.ตรัง ดอกกับใบออกไม่พร้อมกัน ออกดอกช่วงต้นฤดูฝนก่อนออกใบ อยู่ระหว่างการเตรียมเขียนตีพิมพ์
ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรังค้นพบครั้งแรกโดยเจ้าหน้าที่สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย ได้ส่งภาพถ่ายมาให้หอพรรณไม้ตรวจสอบ หลังจากนั้นจึงได้มีการติดตามเก็บตัวอย่าง และพบเพิ่มเติมที่สวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง
8.ว่านแผ่นดินเย็นล้านนา (ชื่อพฤกษศาสตร์ Nervilia marmorata S. W. Gale, Suddee & Duangjai, sp. nov. ined. วงศ์ Orchidaceae ) พบตามเขาหินปูนในแถบ จ.เชียงรายและเชียงใหม่ ดอกกับใบออกไม่พร้อมกัน ออกดอกช่วงต้นฤดูฝนก่อนออกใบ อยู่ระหว่างการเตรียมเขียนตีพิมพ์โดย คำระบุชนิด “marmorata” หมายถึงใบที่มีลายคล้ายหินอ่อน
ทั้งนี้ตัวอย่างของพืชชนิดใหม่ของโลกทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้ที่สำนักหอพรรณไม้ กรมอุทยานฯ ส่วนในธรรมชาติจะเน้นการอนุรักษ์ให้คงอยู่ เพราะเป็นพรรณไม้หายาก ยังไม่ได้มีการประเมินสถานภาพและการใช้ประโยชน์.-สำนักข่าวไทย