กรุงเทพฯ 7 มี.ค. – PwC เผยการทุจริตจัดซื้อเป็นภัยคุกคามธุรกิจไทยปี 60 หลังผลสำรวจพบภาคธุรกิจกว่าร้อยละ 90 เชื่อปีนี้มีโอกาสเกิดการทุจริตจัดซื้อภายในองค์กรของตัวเอง ระบุสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากคนในร่วมมือกับคู่ค้า แนะตรวจเข้มคู่ค้าหวังลดปัญหาฮั้วประมูล
นายวรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงาน Forensic services บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยในงานสัมมนา PwC Forensics Summit ว่า จากการสำรวจผู้เข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้กว่า 400 ราย พบว่าผู้ถูกสำรวจมากถึงร้อยละ 93 ระบุว่ามีโอกาสเกิดการทุจริตจัดซื้อกับธุรกิจที่ดำเนินการในไทยช่วงปี 2560-2561 ซึ่งการทุจริตจัดซื้อถือเป็นปัญหาและภัยร้ายแรงที่ตรวจพบมากที่สุดเป็นลำดับต้น ๆ ทั้งไทยและระดับโลก สอดคล้องกับผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจประจำปี 2559 ของ PwC ประเทศไทย พบว่า การทุจริตจัดซื้อจะเป็นปัญหาการทุจริตที่ตรวจพบมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของไทยปีนี้ รองจากการยักยอกสินทรัพย์ และการรับสินบนและคอร์รัปชันอันดับ 3
นอกจากนี้ ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่เกิดจากพนักงานภายในองค์กร ทำให้ยากต่อการตรวจสอบการทุจริต โดยผลสำรวจปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้อย่างดี เพราะผู้ถูกสำรวจเกือบร้อยละ 80 ยอมรับว่าการกระทำทุจริตส่วนใหญ่เกิดจากคนในทั้งนั้น รวมถึงปัญหาการทุจริตจัดซื้อด้วย ทั้งนี้ สาเหตุของการทุจริตจัดซื้อที่พบส่วนใหญ่เกิดจากพนักงานสมรู้ร่วมคิดกับคู่ค้า และบ่อยครั้งมีการฮั้วขั้นตอนการเลือกผู้ค้า ดั้งนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรต่าง ๆ จะต้องมีการตรวจสอบวิเคราะห์คุณสมบัติพื้นฐาน ของพนักงานและคู่ค้า และควรครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับบุคคลที่ 3 ที่เป็นผู้ค้าของบริษัทในปัจจุบัน หรือที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้เป็นผู้ค้าด้วย
นายวรพงษ์ กล่าวต่อว่า การทุจริตที่เกิดจากบุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้าและคู่ค้าทางธุรกิจของบริษัทอาจทำให้บริษัทเกิดความเสี่ยงที่จะถูกฟ้อง เนื่องจากความเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน โดยผลการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา พบว่าร้อยละ 75 ของเหตุการณ์คอร์รัปชัน 427 เหตุที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ปี 2542 เกี่ยวข้องกับการชำระเงินที่ไม่เหมาะสมผ่านตัวกลางซึ่งเป็นบุคคลที่ 3
ส่วนประเทศไทย นายวรพงษ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายยังคงต้องร่วมกันป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศ ทั้งนี้ จากผลการจัดอันดับ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี 2559 โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติพบว่า ไทยตกมาอยู่ที่อันดับ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ ถือเป็นลำดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีนับจากปี 2556 ซึ่งเวลานั้นไทยอยู่ในอันดับที่ 102
“ค่าคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยล่าสุด ถือว่ารั้งท้ายประเทศกลุ่มเศรษฐกิจบริคส์ และคิวบาที่ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นว่าทุกฝ่ายยังคงต้องทำหน้าที่ให้ดีกว่านี้ หากต้องการให้ไทยเป็นประเทศที่น่าดึงดูดต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ” นาย วรพงษ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย