กรุงเทพฯ 19 พ.ย. -เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 สัปดาห์ หุ้นไทยปรับตัวลดลง เหตุเงินทุนไหลออก หลังเฟดชี้ชัดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยและนโยบาย”โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ อาจทำให้เงินทุนไหลออกเพิ่มขึ้น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (14-18 พ.ย.) เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 สัปดาห์ ที่ 35.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงหนุนที่แข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฯ หลังจากประธานประธานธนากลางสหรัฐ หรือ เฟดกล่าวต่อคณะกรรมาธิการในสภาคองเกรสว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (อาทิ ยอดค้าปลีก การเริ่มสร้างบ้าน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์) ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่ เงินบาทมีปัจจัยลบกดดันตลอดสัปดาห์จากแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับทิศทางสกุลเงินเอเชียในภาพรวมก็เคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าด้วยเช่นกัน
สำหรับในวันศุกร์ (18 พ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 35.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.31 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (11 พ.ย.)
ด้านดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงจากแรงขายอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,473.86 จุด ลดลง 1.38% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 23.26% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 56,039.80 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 568.65 จุด ลดลง 3.28% จากสัปดาห์ก่อน
ด้านตลาดหุ้นไทยปรับร่วงลงในวันจันทร์ โดยได้รับแรงกดดันจากกระแสเงินทุนไหลออก ก่อนที่ดัชนีจะฟื้นขึ้นในวันอังคารจากแรงหนุนของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น จากนั้น ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงต่อในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ก่อนจะทรงตัวในวันศุกร์ โดยมีแรงกดดันจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องท่ามกลางเงินบาทที่อ่อนค่าลง หลังประธานเฟดส่งสัญญาณถึงความพร้อมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วๆ
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.30-35.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดการเงินทั่วโลกน่าจะอยู่ที่สัญญาณของทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีหน้า ทั้งในฝั่งมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลทรัมป์ และสัญญาณแนวโน้มดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่-บ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต-ภาคบริการ (ขั้นต้น) เดือนพ.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามบันทึกการประชุมเฟด (เมื่อต้นเดือนพ.ย.) ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2559 ของไทย
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,450 และ 1,425 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,485 และ 1,500 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การรายงานข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3/2559 ของไทย และพัฒนาการทางการเมืองของสหรัฐฯ ตลอดจนสภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ คำสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนี PMI ภาคการผลิต ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ การรายงานดัชนี PMI ของญี่ปุ่น และเยอรมนีนอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามบันทึกการประชุมเฟด (เมื่อต้นเดือนพ.ย.) ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2559 ของไทย-สำนักข่าวไทย