กรุงเทพฯ 3 ม.ค. – นักวิชาการทีดีอาร์ไอแนะตั้งหน่วยงานกลางสอบสวนกรณีอุบัติเหตุรถตู้มีผู้เสียชีวิต 25 ราย หลังมีรายงานข่าวระบุมีถังก๊าซ 3 ใบ รวมทั้งเสนอกรมการขนส่งทางบกจัดชุดเคลื่อนที่ตรวจสภาพป้องกันปัญหาผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานตรวจสภาพ
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงกรณีอุบัติเหตรถตู้โดยสารชนรถปิคอัพ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 25 ราย ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวระบุว่ารถตู้คันที่เกิดเหตุดัดแปลงติดตั้งถังก๊าซเพื่อเป็นเชื้อเพลิงถึง 3 ใบ ว่า ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลที่ชัดเจน ดังนั้น ทีดีอาร์ไอเห็นว่าในอนาคตควรจัดตั้งหน่วยงานกลางที่เป็นอิสระ เพื่อทำการสอบสวนอุบัติเหตุครั้งสำคัญ เนื่องจากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการหลายแห่ง การกำหนดมาตรฐาน ตรวจสภาพต่าง ๆ ปัจจุบันเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการเมื่อเกิดอุบัติเหตุหากให้หน่วยงานราชการสอบสวนอาจทำให้ไม่ได้ข้อมูลที่ควรนำมาเป็นประเด็นในการแก้ไขในอนาคต โดยข้อมูลจากการสอบสวนแต่ละครั้งนอกจากจะนำมาเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบแล้ว ยังสามารถนำไปปรับปรุงมาตรฐานในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของรถที่ให้บริการด้วย
นายสุเมธ กล่าวว่า การติดตั้งถังก๊าซ 3 ใบ ที่ผ่านมาสำหรับรถตู้โดยสารที่วิ่งให้บริการเส้นทางเฉลี่ย 100 กม.ไม่เกิน 150 กม.การมีถังก๊าซ 2 ใบ น่าจะเพียงพอ หากวิ่งเส้นทางไกลตั้งแต่ 150-200 กม. รถบางคันที่ติดตั้งถังก๊าซถึง 3 ใบ เพื่อให้มีเชื้อเพลิงเพียงพอ อย่างไรก็ตาม แต่ละใบเมื่อบรรจุก๊าซเต็มจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 100 กก. เท่ากับรถตู้คันใดมีถังก๊าซถึง 3 ใบ จะมีน้ำหนักเพิ่มเป็น 300 กก. ย่อมส่งผลทำให้รถมีน้ำหนักมากและหากเกิดอุบัติเหตุทำให้ผู้ขับขี่ยากที่จะควบคุม รวมทั้งสภาพปัจจุบันรถตู้ที่ดัดแปลงถังก๊าซไว้ด้านหลังเวลาเกิดอุบัติเหตุผู้ให้ความช่วยเหลือพบการติดตั้งถังก๊าซจำนวนมาก ทำให้เป็นอุปสรรคไม่กล้าช่วยเหลือ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ย้ำว่าที่ผ่านมาภาควิชาการและหลายหน่วยงานออกมาวิเคราะห์ถึงความไม่เหมาะสมของรถตู้โดยสารที่ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารไม่สามารถหนีออกจากรถได้และประตูที่อยู่กลางตัวรถก็มักไม่ทำงาน แม้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานจะพยายามควบคุมหรือคุมกำเนิดและจัดระเบียบลดจำนวนการจดทะเบียนรถตู้ ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ต้องใช้ระยะเวลาแก้ นอกจากนี้ ยังพบว่าบริการรถตู้โดยสารยังมีปัญหาลักษณะการประกอบการหรือการที่มีผู้ให้ใบอนุญาตการเดินรถจากหน่วยงานราชการหลายแห่ง ผู้ประกอบการมีหลายรายทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
นอกจากนี้ การตรวจสภาพที่มีการพูดถึงมายาวนานและหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น กรมการขนส่งทางบกก็ทราบปัญหา เช่น รถตู้โดยสารที่ถูกกำหนดให้ตรวจสภาพปีละ 2 ครั้ง เมื่อตรวจสภาพรถตู้เหล่านี้ก็ปรับสภาพให้พร้อมตรวจ เช่น บางรายเปลี่ยนยางใหม่ ติดตั้งอุปกรณ์ตามกฎหมาย เมื่อตรวจสภาพเสร็จก็เปลี่ยนไปใช้ยางเก่าเพื่อลดต้นทุนการให้บริการ ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกเมื่อทราบปัญหาก็ไม่ควรนิ่งเฉยควรปรับวิธีการทำงานโดยการจัดชุดเคลื่อนที่สุ่มตรวจแต่ละปี แต่ละจุดจอด ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมมาตรฐานมีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังเกิดอุบัติเหตุเมื่อวานที่ผ่านมาวันนี้ในโซเชียลมีเดียมีประชาชนจำนวนมากแชร์สภาพปัญหาการให้บริการรถตู้โดยสาร เช่น มีผู้ประกอบการบางรายจำหน่ายตั๋วยืนในช่วงขากลับจากเทศกาลปีใหม่นี้ ล่าสุดกรมการขนส่งทางบกประกาศจะดำเนินการเอาผิดกับผู้ประกอบการที่ฉวยโอกาสเหล่านี้ทุกรายที่สามารถติดตามประวัติ ทะเบียนรถ และเลขที่จดทะเบียน.-สำนักข่าวไทย