ธปท. 23 พ.ย. – นายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์กลุ่มงานการศึกษาประจำธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการวิจัยนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ทำให้ต้นทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 60 และมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ แต่หากมองในมุมการลดความเหลื่อมล้ำ ถือว่ามีผลในการลดช่องว่างดังกล่าวได้และครอบคลุมแรงงานที่ได้ปรับขึ้นค่าแรงกว่าร้อยละ 80 แต่ขณะเดียวกันกลับมีแรงงานบางส่วนที่ไม่รับการปรับเพิ่มประมาณร้อยละ 10 ในช่วงแรกของการดำเนินนโยบาย และเร่งตัวขึ้นในช่วงปี 2556 ที่มีผลกระทบต่อแรงงานกลุ่มหนุ่มสาวที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นประมาณร้อยละ 30 – 40
ทั้งนี้ หลังผ่านการดำเนินนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงช่วง 1 ปีครึ่ง มีผลกระทบต่ออัตราการจ้างงานที่ลดลงไม่มาก เนื่องจากมีการปรับตัวช่วงก่อนการใช้นโยบายประมาณ 3 ไตรมาส แต่หากลงไปดูรายละเอียดถือว่ามีผลกระทบต่ออัตราการจ้างงานสูง เนื่องจากทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงาน โดยเน้นการจ้างงานจากแรงงานที่มีความสามารถสูงและค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้แรงงานที่ไม่มีคุณภาพออกจากระบบแรงงาน จึงทำให้ตัวเลขการว่างงานไม่ได้สะท้อนผลกระทบและอัตราตัวเลขการว่างงานไม่เร่งตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวนั้นยอมรับว่าช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริง แต่ก็มีผลกระทบมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ ทั้งนี้ มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อและสอดคล้องกับค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งไม่ควรนำมาเป็นนโยบายหาเสียง เพราะมีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจ.-สำนักข่าวไทย