29 มิ.ย. – แกนนำอาสาดับไฟป่าบนดอยสุเทพ ยืนยันไม่เคยพบ “ฌอน บูรณะหิรัญ” รวมถึงไม่เคยได้รับความช่วยเหลือตลอดระยะเวลาที่เกิดไฟป่า ขณะที่นายอำเภอเมืองเชียงใหม่แจงชัด การรับเรี่ยไรครั้งนั้นไม่มีการยื่นขออนุญาตอย่างเป็นทางการ
ปมดราม่าสุดร้อนแรงเกี่ยวกับการเปิดรับบริจาคเงินของ “ฌอน บูรณะหิรัญ” ไลฟ์โค้ช หรือ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจเพื่อช่วยดับไฟป่าที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม กระทั่งมีการทวงถามความชัดเจนเกี่ยวกับยอดเงินบริจาค รวมถึงการนำไปช่วยเหลือดับไฟป่า และชี้แจงการใช้จ่ายเงินอย่างชัดเจน และก่อนหน้านั้น “ฌอน บูรณะหิรัญ” ได้โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ชี้แจงประเด็นดังกล่าว และโชว์หลักฐานเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ อ้างว่าได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เพจ “แหม่มโพธิ์ดำ” ยังกระตุ้นให้ชี้แจงให้ชัดเจนมากกว่านี้
ทีมข่าวสำนักข่าวไทยเดินทางไปพบนายขจร ประเสริฐศรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านดอยสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ และพบภาพถ่ายการเข้าดับไฟป่าของทีมอาสาดับไฟป่า ภาพการรับบริจาคสิ่งของจากภาคเอกชนมาให้ผู้สื่อข่าวดู ยืนยันว่าไม่เคยพบกับ “ฌอน บูรณะหิรัญ” ตลอดระยะเวลาที่เกิดไฟป่าบนดอยสุเทพตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม-เมษายน ชาวบ้านดอยสุเทพกว่า 100 คน เป็นทีมอาสาดับไฟป่า และมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุ่ย เจ้าหน้าที่ชุดเสือไฟที่มาจากทั่วประเทศลงพื้นที่มาช่วย แต่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจาก “ฌอน บูรณะหิรัญ” หรือแม้แต่เงินและสิ่งของบริจาค ส่วนใหญ่จะได้รับจากสภาลมหายใจ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ นำน้ำดื่ม อาหารแห้ง และอุปกรณ์ดับไฟป่ามาให้ทีมอาสาดับไฟป่า ส่วนสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดเชียงใหม่ ได้สบทบทุนเงินบริจาคกว่า 10,000 บาท ซึ่งได้นำไปใช้ประกอบอาหารให้กับทีมดับไฟป่าทั้งสามมื้อตลอดหลายสัปดาห์ กระทั่งสถานการณ์ไฟป่าคลี่คลาย
นายอำเภอเชียงใหม่เรียกสอบ “ฌอน” ปมเรี่ยไรบริจาค
นายสราวุฒิ วรพงษ์ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ชี้แจงเรื่องการตรวจสอบการรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือในการดับไฟป่าในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ของ “ฌอน บูรณะหิรัญ” ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 1 พฤษภาคม เป็นเงินกว่า 870,000 บาท พบว่านายฌอนไม่ได้มายื่นขออนุญาตเรี่ยไรตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร โดยมีโทษปรับซึ่งเป็นเพียงคดีลหุโทษ จึงอยากให้ออกมาชี้แจงให้สังคมเกิดความกระจ่าง และเชื่อว่าน่าจะแก้ปัญหาได้ดี
ตำรวจเชียงใหม่ยังไม่พบผู้เสียหายจากปมบริจาคเข้าร้องทุกข์
เช่นเดียวกับ พ.ต.อ.ปิยะพันธ์ ภัทรพงศ์สินธุ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงกรณีที่ปรากฏภาพถ่ายคู่กับนายฌอนว่า เป็นภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฌอน มาพบเพื่อหารือเรื่องการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเข้าทำงานในโครงการฟาร์มตัวอย่าง ทราบว่านายฌอนเปิดรับบริจาคเงินทางสื่อออนไลน์ จึงได้แนะนำให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ยังไม่มีผู้แจ้งความร้องทุกข์ หากผู้บริจาคเงินเห็นว่าได้รับความเสียหาย สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้
ขณะที่ในโลกออนไลน์ยังเปิดเผยข้อมูลของนายฌอน พบว่ามีร้าน บ้านพัก และร้านกาแฟอยู่ที่เชียงใหม่ ชื่อร้าน “เต่าคาเฟ่ แอนด์ คอมมิวนิตี้” ย่านถนนระแกง พบว่าร้านปิดตัวชั่วคราวตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เริ่มระบาด ติดป้ายประกาศหน้าร้านว่า “ยังไม่มีกำหนดเปิด” และไม่สามารถติดต่อกับฌอนได้
ด้าน พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เปิดเผยว่า นายฌอนไม่เคยมาพบ และไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องเงินบริจาค ทราบแต่ว่าเคยร่วมกิจกรรมจิตอาสากับกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์หลายครั้ง และนายฌอน เคยมาร่วมกิจกรรมปลูกป่าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานปลูกป่าที่อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อำเภอแม่ริม ซึ่งในวันดังกล่าวนายฌอนได้ร่วมปลูกต้นไม้ และมอบเครื่องเป่าลม 2 เครื่อง ให้กับหน่วยงานราชการ
แจงปมเงินบริจาค “ฌอน” ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงกับสื่อมวลชน กรณีนายฌอนเปิดรับเงินบริจาค เนื่องจากเรื่องนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมากที่ต้องชี้แจงให้เกิดความเข้าใจตรงกัน อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดรายบุคคลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่เสียภาษีได้ ส่วนรายได้ที่เกิดในปี 2563 นิติบุคคลจะยื่นเสียภาษีได้ในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นกรมสรรพากรถึงจะตรวจสอบการยื่นภาษีได้ว่าครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่
ด้านนางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ส่วนเงินบริจาคที่ได้รับมานั้นจะสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ ในกรณีนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะผู้ที่จะได้รับการลดหย่อนภาษี ต้องจดทะเบียนเป็นตัวแทนหน่วยรับบริจาค และต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่ชัดเจน แต่ในส่วนนี้เป็นการเปิดบริจาคโดยใช้บัญชีของตนเอง ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายนำไปลดหย่อนภาษี. – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
►แกนนำอาสาดับไฟป่าดอยสุเทพยันไม่เคยพบ “ฌอน บูรณะหิรัญ”
► รับบริจาคออนไลน์ ผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย