กทม.28 พ.ค.-ผู้ว่าฯ กทม.นำคณะ ลุยตรวจระบบระบายน้ำพื้นที่กรุงเทพฯ เตรียมพร้อมรับมือหน้าฝนปีนี้ แก้ปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วม เช่น ถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ , ช่วงแยกรัชโยธิน-แยกเกษตร , ถนนวิภาวดีรังสิต และบริเวณปากซอยสุทธิพร 2 เขตดินแดง
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยผู้บริหารจากสำนักระบายน้ำ ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) ถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ ,ระบบระบายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแยกรัชโยธิน-แยกเกษตร โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต และโครงการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำ ใต้ดิน (Water Bank) บริเวณปากซอยสุทธิพร 2 เขตดินแดง
นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า ช่วงถนนพหลโยธิน ช่วงรอบแยกเกษตรศาสตร์ มีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคมากมาย ส่งผลกระทบทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลง เมื่อฝนตกหนักจึงเกิดน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง แก้ปัญหาด้วยการก่อสร้างระบบระบายน้ำด้วยวิธีดันท่อลอด (pipe jacking) พร้อมก่อสร้างบ่อสูบน้ำบริเวณถนนประเสริฐมนูกิจ ตอนลงคลองลาดพร้าว กำลังสูบ 4.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณแยกเกษตรศาสตร์ ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณดังกล่าวได้
ส่วนจุดที่ 2 ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชโยธิน-แยกเกษตร ฝาท่อระบายน้ำถูกปิดทับ ได้ขอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้
ขณะที่จุดที่ 3 สถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณคลองบางซื่อ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเดิมถนนอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมทางหลวง ต่อมาเมื่อปี 2542 กรมทางหลวงมอบให้ กทม.ดูแลรับผิดชอบระบบระบายน้ำบริเวณคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตทั้ง 2 ฝั่ง โดยสถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตที่เปิดใช้งานมาอย่างยาวนาน อัตรากำลังสูบน้ำที่มีอยู่เดิม 59 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงปรับปรุงสถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต จำนวน 15 สถานี โดยดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จ 9 สถานี อัตรากำลังสูบน้ำ รวม 90 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
สำหรับสถานีสูบน้ำ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง อาทิ สถานีสูบน้ำคลองบางซื่อขาเข้าฝั่งใต้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะเพิ่มอัตรากำลังสูบน้ำเป็น 92 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เมื่อโครงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตแล้วเสร็จทั้งหมด 15 สถานี จะเพิ่มอัตรากำลังสูบน้ำจาก 92 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 110 ลูกบาศก์เมตร/วินาที สามารถระบายน้ำลงสู่คลองบางซื่อ คลองลาดยาว คลองบางเขน คลองวัดหลักสี่ ระบายออกสู่คลองเปรมประชากร และอีกส่วนหนึ่ง ระบายออกคลองลาดพร้าว ตลอดจนช่วยรองรับน้ำบริเวณคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต ทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออกเข้าสู่ระบบอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5.00 เมตร ความยาว 6.40 กิโลเมตร กำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเครื่องยนต์เสริม 10 เครื่อง กำลังสูบน้ำรวม 20 ลูกบาศก์เมตร/วินาที คลอดแนวถนนวิภาวดีรังสิต และติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 แห่ง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฝนในปีนี้
และจุดที่ 4 จุดก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (water bank) บริเวณปากซอยสุทธิพร 2 ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมถึงป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังถนนอโศกดินแดง ช่วงจากสี่แยกประชาสงเคราะห์ ถึงซอยขวัญพัฒนา และพื้นที่ใกล้เคียง รูปแบบการทำงานของบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) จะเริ่มจากการก่อสร้างบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ไว้ใต้ดิน ลึกประมาณ 8-9 เมตร เพื่อรองรับน้ำฝนในช่วงเวลาที่ฝนตกเข้ามากักเก็บไว้ที่บ่อเก็บน้ำ โดยการเชื่อมท่อระบายน้ำเข้ากับท่อระบายน้ำเดิม หรืออาจจะวางท่อระบายน้ำใหม่จากบ่อเก็บน้ำไปยังคลองโดยตรง
พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เมื่อฝนหยุดตกและระดับน้ำในคลองลดต่ำลง จะระบายน้ำออกจากบ่อเก็บน้ำลงสู่คลองในพื้นที่ รวมถึงสามารถเร่งระบายน้ำจากบ่อเก็บน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องและปริมาณน้ำเกินความจุของบ่อเก็บน้ำ กล่าวคือบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน(Water Bank) สามารถใช้เป็นทั้งแก้มลิงรับน้ำฝนและใช้เป็นบ่อสูบน้ำกรณีที่ฝนตกหนักอย่างต่อ เนื่อง
นอกจากนี้ กทม.ได้เตรียมความพร้อมรับมือน้ำฝนปีนี้อย่างเต็มที่ เพื่อลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ทั้งการขุดลอกคูคลอง ลอกท่อระบายน้ำ เตรียมเครื่องสูบน้ำตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วม โดยปีนี้จุดอ่อนน้ำท่วมลดลงจากปีที่แล้วจาก 17 จุดเหลือ 14 จุด ขณะที่การแก้ปัญหาระบบไฟฟ้าขัดข้องที่อุโมงค์ระบายน้ำบางซื่อ ก็แก้ไขเรียบร้อยแล้ว ปีนี้เชื่อว่าการระบายน้ำจะดีขึ้น เช่น ถ้าฝนตก 60-70 มิลลิเมตร สามารถระบายน้ำได้ปกติ หากฝนตกหนัก 100 มิลลิเมตร มีน้ำท่วมขังแน่ๆ แต่เดิมใช้เวลาระบายน้ำ 4-5 ชั่วโมงปีนี้จะระบายได้เร็วขึ้นเหลือ1-3 ชั่วโมง โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กทม.ได้พัฒนาระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งดีขึ้นกว่าเดิมถึงร้อยละ50 .-สำนักข่าวไทย