สำนักข่าวไทย 18 เม.ย. – หมอยง แจงจำนวนคนป่วยโควิด-19 รักษาหายแล้ว ยื่นความประสงค์บริจาคพลาสมา เพื่อรักษาผู้ป่วยรายอื่นมี 70 คน และยังไม่ได้นำไปใช้รักษา ย้ำต้องการเพิ่ม จะใช้กรณีรักษาผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง ระดับภูมิต้านของผู้ป่วยที่โควิด-19 จะเข้มข้นมีไปถึง 3-4 เดือน จึงเป็นโอกาสทองของการบริจาค เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการบริจาคพลาสมาของผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว นำมารักษาผู้ป่วยรายใหม่ ว่า ทราบข้อมูลเบื้องต้นจากศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ว่า มีผู้สนใจมาบริจาคแล้วประมาณ 70 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กทม. ที่รักษาหายแล้ว โดยต้องไม่มีเชื้อในเสมหะ คอ, ระบบทางเดินหายใจ และในเลือด และยังต้องปฎิบัติตัวไม่ต่างจากผู้บริจาคเลือดทั่วไป ซึ่งการบริจาคนี้ จะนำแค่น้ำเหลือง ของผู้ป่วยมาใช้เท่านั้น เม็ดเลือดต่างๆ จะคืนให้ผู้บริจาคดั่งเดิม
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า การบริจาคพลาสมาในผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วนั้น ทำได้ ทุกๆ 2-4 สัปดาห์ และ ต่อเนื่องได้นานถึง 3-4 เดือนเท่านั้น เพราะหากเลยระยะเวลาเหล่านี้ เชื้อในร่างกาย ที่เข้มข้นจะจางลง และกลายเป็นภูมิต้านทานต่ำ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการผู้ป่วยรักษาหายแล้วไม่นานเกิน 3-4 เดือนเท่านั้น แต่พลาสม่าที่ได้สามารถเก็บได้นานถึง 1 ปี ด้วยระบบการแช่แข็งเมื่อจะนำมาใช้ สามารถนำมาละลายใช้ได้ โดยข้อบ่งชี้ของการนำพลาสม่ามารักษา ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบรุนแรง และต้องมีกรุ๊ปเลือดที่ตรงกัน
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า สำหรับประสงค์บริจาคพลาสมานั้น นอกจากต้องป่วยโควิด-19 รักษาหายแล้ว และกักอยู่บ้าน 14 วัน ต้องเป็นคนที่อาศัยในพื้นที่กทม. สามารถลงทะเบียนอยากบริจาคได้ที่ศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จากนั้นรถบริจาคจะได้รับเลือดที่พักของผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดย 1 คน สามารถบริจาคพลาสม่าได้มากถึง 400-500 ซีซี ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค จากนั้นจะ นำพลาสม่ามาตรวจดูระดับความเข้มข้นของภูมิคุ้มกัน และ แบ่งพลาสม่าเป็นถุงละ 250 ซีซี เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ต่อไป แต่จนถึงขณะนี้จำนวนผู้บริจาคยังมีไม่มาก และยังไม่ได้นำไปใช้รักษาผู้ป่วย .-สำนักข่าวไทย