นนทบุรี 16 เม.ย. – พาณิชย์ดันพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ดึงดีไซเนอร์ร่วมปรับภาพลักษณ์ เพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นสู่ระดับพรีเมียม สู้วิกฤติโควิด-19
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แก่สินค้า GI ประจำปีงบประมาณ 2563 ให้เป็นสินค้าชุมชนระดับพรีเมี่ยมสามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก โดยร่วมมือกับนักออกแบบมืออาชีพในการนำอัตลักษณ์ของสินค้า GI มาพัฒนาต่อยอดแนวคิดเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม โดดเด่น สร้างการจดจำ และดึงดูดใจผู้ซื้อ ที่สำคัญบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวต้องช่วยอำนวยความสะดวกในการถือหรือขนย้ายสินค้าของผู้บริโภคอีกด้วย
“โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI เป็นโครงการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งภาพลักษณ์สินค้าที่ดูโดดเด่นสวยงาม มีการนำตราสัญลักษณ์ GI และชื่อ GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ไปใช้อย่างถูกต้อง รวมทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้มากกว่า 20% ผู้ผลิตและผู้ประกอบการสามารถจำหน่ายสินค้ามากขึ้นจากภาพลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจและดึงดูดใจผู้ซื้อ โดยปีนี้มีสินค้า GI 10 รายการที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สับปะรดห้วยมุ่น แห้วสุพรรณ มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี น้ำหมากเม่าสกลนคร เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ และผ้าหมักโคลนหนองสูง คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเสร็จและนำสินค้าในบรรจุภัณฑ์ใหม่ออกจำหน่ายภายในปี 2563” นายวีรศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI นับเป็นอีกหนึ่งโครงการของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ที่จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและผู้ประกอบการ GI ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันอยากลำบากไปด้วยกัน.-สำนักข่าวไทย