กรุงเทพ ฯ 13 เม.ย. – ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินเทคโนโลยี 5G และวิกฤต COVID-19 จะปฏิวัติการดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมสู่รูปแบบอัจฉริยะ ผลักดันอุตสาหกรรม Healthcare พลิกโฉมสู่รูปแบบ Smart Healthcare เต็มรูปแบบ ยกระดับประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพสู่มิติใหม่ๆ แก้ปัญหาข้อจำกัดด้านความเพียงพอและการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ รับมือสังคมผู้สูงอายุ และมีส่วนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยลงปีละ 7-11.5%
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กระแสเทคโนโลยี 5G มาแรงและหลายประเทศได้เริ่มใช้งานในเชิงพาณิชย์ไปแล้ว สำหรับประเทศไทย คาดว่าการใช้งาน 5G จะคึกคักใน 1-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจังหวัดต้นแบบของ Smart City เนื่องจาก 5G จะทำให้เทคโนโลยีต่างๆ ทรงพลัง โดยเร็วกว่า 4G ได้ถึง 20 เท่า และรองรับอุปกรณ์ได้มากกว่าถึง 10 เท่า ที่สำคัญวิกฤต COVID-19 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้ผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ เปิดรับและเรียนรู้เทคโนโลยีเร็วขึ้น ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เช่น การปฏิบัติงานทางไกล การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics & Automation) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Healthcare ซึ่งเป็นแนวหน้าในการสู้กับ COVID-19 และไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
“5G จะก่อให้เกิดอุปกรณ์ใหม่ๆ จำนวนมหาศาลในชีวิตประจำวัน ที่เชื่อมต่อกันด้วย Internet และจะปฏิวัติการดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมสู่รูปแบบอัจฉริยะ (Smart Business) ซึ่งในอุตสาหกรรม Healthcare จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพสู่มิติใหม่ๆ แก้ปัญหาข้อจำกัดด้านความเพียงพอและการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีแพทย์เพียง 6 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน ลดผลกระทบต่อคุณภาพและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 8% จนอยู่ที่ 5.8 แสนล้านบาท หากมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศลงได้ปีละ 7-11.5%”
นายณัฐพร ศรีทอง ผู้ร่วมทำวิจัยกล่าวเสริมว่า 5G จะทำให้เกิด Smart Healthcare อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถสื่อสารกันแบบ Real Time ข้อมูลต่างๆ จะถูกรวมศูนย์อย่างเป็นระบบ และทำให้ศูนย์กลางการดูแลสุขภาพถูกถ่ายโอนจากบุคลากรทางการแพทย์สู่ผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับบริการดูแลสุขภาพในรูปแบบ 4 P คือ สามารถคาดการณ์ปัญหาสุขภาพ (Predictive) ดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive) ออกแบบให้เฉพาะเจาะจงแต่ละบุคคล (Personalized) รวมทั้งผู้ป่วยมีส่วนดูแลสุขภาพมากขึ้น (Participatory) ผ่านการตรวจตราและเฝ้าระวังสุขภาพผ่านโทรศัพท์มือถือ ด้วยแอปพลิเคชันและอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ (Wearable Medical Device) ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศ พบว่าตลาด wearable จะเติบโตปีละ 28% ขณะที่ตลาดการปรึกษาด้านสุขภาพทางไกลจะเติบโตปีละ 18.9% และโดยรวมตลาด Internet of Medical Things (IoMT) จะเติบโตปีละ 27.6%
“ภาครัฐและเอกชนไทยในระบบนิเวศของอุตสาหกรรม Healthcare ต้องเตรียมพร้อมและปรับตัว เช่น สร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี วางระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยและปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสม ร่วมลงทุนกับ Strategic Partners เพื่อยกระดับการให้บริการ นำเสนอบริการ m-Health หรือ Mobile Health บริการปรึกษาแพทย์ทางไกลผ่านแพลตฟอร์มโรงพยาบาล ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ ผนวกกับ HealthTech Startup ซึ่งมีจุดเด่นด้านนวัตกรรมและความคล่องตัวสูง ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์สวมใส่ รวมถึงผู้ให้บริการวางระบบโครงสร้างการจัดเก็บข้อมูล ตลอดจนผสานกับหน่วยงานภาครัฐ ประกันสังคม บริษัทประกัน และธนาคารพาณิชย์ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลและระบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาล”นายณัฐพร กล่าว