กรุงเทพฯ 7 เม.ย.- ตำรวจปคบ. ร่วม อย. จับผู้กักตุนหน้ากากอนามัย ลักลอบผลิตเจลแอลกอฮอล์ มูลค่า 50 ล้านบาท
พลตำรวจโทเพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฯ พร้อม ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. และ อย. แถลงผลการจับกุมผู้กักตุนหน้ากากอนามัย และขายเกินราคา รวมทั้งลักลอบนำชุดตรวจโควิด-19 และเจลผสมแอลกอฮอล์มาจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 2 เมษายนที่ผ่านมา สามารถจับกุมได้ทั้งสิ้น 5 คดี ยึดของกลางชุดตรวจโรคโควิด-19 จำนวน 55,000 ชุด, หน้ากากอนามัย 350,000 ชิ้น, เครื่องวัดอุณหภูมิ แบบอินฟราเรด 1,200 เครื่อง, ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ 53,000 ลิตร และ เจลผสมแอลกอฮอล์ไม่ได้มาตรฐาน 7,896 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 8,271 ชิ้น รวมมูลค่าของกลางทั้งสิ้นกว่า 50 ล้านบาท
หนึ่งในคดีสำคัญที่จับกุมได้ครั้งนี้ คือการจับกุม 2 ชาวจีน คือนายเฉิน เหล่ย อายุ 35 ปี และนายเหวิน ปินปิน อายุ 24 ปี ภายในบ้านพักย่านซอยวชิรธรรมสาธิต 53 เขตพระโขนง หลังพบว่ามีการลักลอบขายชุดตรวจโควิด-19 เถื่อน ซึ่งคดีนี้คดีเดียวสามารถยึดของกลางชุดตรวจโรคโควิด-19 จำนวน 45,000 ชุด, หน้ากากอนามัย จำนวน 350,000 ชิ้น, และเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด จำนวน 1,200 เครื่อง รวมมูลค่าของกลางคดีเดียวกว่า 33,750,000 บาท
ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะขยายผลตรวจสอบหาโรงงานที่ลักลอบผลิต นำเข้าและจำหน่าย หากพบผู้รับอนุญาตฯ รายใดมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและใช้มาตรการทางปกครองทันที และห้ามผู้ประกอบการนำเข้าชุดตรวจโรคโควิด-19 เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตโดยเด็ดขาด มิฉะนั้นจะมีความผิดฐาน “นำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่จดทะเบียนสถานประกอบการ” จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนผู้บริโภคอย่าซื้ออุปกรณ์ชุดตรวจโรคโควิด-19 ทางร้านค้าออนไลน์มาใช้โดยเด็ดขาด เพราะสินค้าที่ขายทางออนไลน์ทั้งหมดเป็นสินค้าเถื่อน โดยชุดตรวจอนุญาตให้ใช้ในกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะต้องใช้ความชำนาญในการวิเคราะห์ อ่านและแปลผล หากมีการตรวจด้วยตนเองแล้วเกิดข้อผิดพลาดอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าตนเองไม่ติดเชื้อ จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อมากขึ้น และอย่าหลงเชื่อโฆษณาขายยาต้านไวรัสทางเว็บเพจอ้างช่วยรักษาโรคไวรัสโคโรนา เพราะการใช้ยาดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หากซื้อมาใช้เองอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา หรือได้รับยาปลอมไม่มีคุณภาพ.-สำนักข่าวไทย