ทำเนียบรัฐบาล 31 มี.ค. – ครม. เห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ สำหรับมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งหลังจากเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 ถึงวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2563 เวลา 07.00 น. พบว่า ผู้ลงทะเบียนที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบสิทธิจำนวนทั้งสิ้น 18.8 ล้านคน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ กระทรวงการคลังเสนอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้ฯ ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จากเดิม จำนวน 3 ล้านคน เป็น จำนวน 9 ล้านคน และกระทรวงการคลังขอนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 45,000 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 มาใช้ในการชดเชยรายได้ครั้งแรก ในเดือนเมษายน 2563 ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบที่ได้รับสิทธิตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ ไปพลางก่อน สำหรับในเดือนต่อ ๆ ไป กระทรวงการคลังจะได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ ตามมาตรา 54 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กำหนดให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มาตรา 40 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้ จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตนกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 บางส่วนที่ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมแต่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จำนวน 70,676 คน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กลุ่มอื่น ๆ นั้น กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป พร้อมเสนอให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ โดยให้กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สำหรับโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) กระทรวงการคลังเสนอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับโครงการสินเชื่อฯ เพื่อให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายตามที่กล่าวข้างต้น โดยไม่กระทบต่อฐานะและผลการดำเนินงาน โดยพิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับโครงการสินเชื่อฯ ของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. จำนวนไม่เกิน 1,600 ล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนการดำเนินงาน (วงเงิน 40,000 ล้านบาท * ร้อยละ 2 * ระยะเวลา 2 ปี) โดยแบ่งเป็นของธนาคารออมสินไม่เกิน 800 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 800 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีต่อ ๆ ไป
ทั้งนี้ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ภายใต้โครงการสินเชื่อฯ ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.20 ต่อปี ซึ่งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. มีต้นทุนผันแปร (Variable Cost) อยู่ที่ร้อยละ 2.56 และ 2.90 ตามลำดับ ซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนเงิน (Cost of Fund) อยู่ที่ร้อยละ 1.56 และร้อยละ 1.90 ตามลำดับ และค่าใช้จ่ายในการกันเงินสำรองอย่างน้อยธนาคารละร้อยละ 1.00 ของสินเชื่อที่อนุมัติ . – สำนักข่าวไทย