ทำเนียบฯ 6 มี.ค. – บอร์ดอีอีซี เห็นชอบแผนแก้ปัญหาภัยแล้งภาคตะวันออก เตรียมเสนอ ครม. รับทราบผลคัดเลือกผู้ชนะประมูลสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ยืนยันไวรัสโควิด-19 ไม่กระทบแผนลงทุนอีอีซี กลางปีเตรียมจัดงานบิ๊กคลีนนิ่งพัทยา
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่กระทบต่อแผนการลงทุนในเขตอีอีซี เพราะเป็นแผนลงทุนของอุตสาหากรรมระยะยาว ส่วนปัญหาแพร่ระบาดเป็นช่วงสั้น อีกทั้งการควบคุมปัญหาแพร่ระบาด ไทยมีมาตรฐานติดอันดับต้นๆของโลก มีระบบการดูแลดีกว่าหลายประเทศ จึงสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน โดยหลังจากนี้ สำนักงานอีอีซี เตรียมร่วมมือกับเมืองพัทยา จัดงานบิ๊กคลีนนิ่งในช่วงเดือน พ.ค. – มิ.ย. เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงถัดไป หลังจากรัฐบาลออกมาตรการระยะสั้นช่วยเหลือ บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนขณะนี้
สำนักงานอีอีซี ยังเตรียมพร้อมเร่งรัดการลงทุนในปี 63 ร่วมกับหลายหน่วยงาน เร่งเงินลงทุน 16,000 ล้านบาท ในเขตอีอีซีออกสู่ระบบ การปรับงบประมาณของสำนักงานอีอีซีสำหรับโรดโชว์ในต่างประเทศ 425 ล้านบาท ปรับบางส่วนมาเพิ่มสภาคล่องกับภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งรับงบประมาณจากกระทรวง อว. ร่วมกับสถาบันการศึกษา ฝึกอบรมพนักงาน แรงงานด้านท่องเที่ยว เติมความรู้ ช่วงงานน้อย เพื่อนำกลับไปพัฒนาอาชีพ แทนการปลดคนงานในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า
สำหรับที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับทราบผลการคัดเลือก ผู้ชนะประมูลสร้างสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก หลังพิจารณาข้อเสนอซอง 3 (ด้านราคา) จากเอกชน เตรียมนำร่างสัญญาของสำนักงานอัยการสูงสุด เสนอ ครม. พิจารณา เมษายน 63 นี้ และบอร์ดอีอีซียังพิจารณาแผนบริหารจัดการน้ำใน อีอีซี สำหรับแผนแก้ปัญหาระยะสั้น
ในเขตอีอีซี สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการ แก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 63 ร่วมกับ กรมชลประทาน คณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) บริษัท East Water และภาคเอกชน ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ มีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำ 9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เช่น การสูบน้ำกลับคลองสะพาน มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 1.5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดย East Water ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ
โครงการผันน้ำคลองหลวง มายังอ่างเก็บน้ำบางพระ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 10–35 ล้านลูกบาศก์เมตร และขอให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำแผนลดใช้น้ำร้อยละ 10 ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 63 การเจรจาซื้อน้ำจากบ่อดินเอกชน เข้าระบบจังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยการประปาส่วนภูมิภาค ประสานกับ East Water เร่งดำเนินการ และจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของปี 63 –80 ด้วยการพัฒนาและจัดการน้ำต้นทุน 53 โครงการ วงเงิน 52,797 ล้านบาท การผลิตน้ำจืดจากทะเล (Desalination) เตรียมพิจารณาการลงทุนในอนาคตกับภาคเอกชน เพราะขณะนี้ภาคเอกชนหลายแห่งสนใจลงทุน เพื่อกลั่นน้ำทะเลเป็นจืด เป็นอีกทางเลือกหนี่งในการดูแลระบบน้ำภาคตะวันออก . – สำนักข่าวไทย