รัฐสภา 26 ก.พ.-“นพ.ชลน่าน” จี้ นายกฯ-คสช.ลาออก เปิดโอกาสเลือกผู้นำคนใหม่ หลังพบใช้คำสั่ง คสช.ระงับการทำเหมืองแร่ทองคำที่ จ.พิจิตร จนเกิดข้อพิพาทกับนักลงทุนต่างชาติ ชี้ไทยเสี่ยงเกิดความเสียหายใหญ่หลวง
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากผลพวงของการใช้อำนาจจากคำสั่ง คสช. ที่ 72/2559 ลว.13 ธันวาคม 2559 ให้ระงับการทำเหมืองแร่ทองคำและการประกอบโลหะกรรมแร่ทองคำ ที่ จ.พิจิตร จนนำไปสู่ข้อพิพาทกับบริษัทผู้ลงทุนจากต่างประเทศ (ออสเตรเลีย) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอฟังคำชี้ขาดจากอนุญาโตตลาการผู้ชี้ชาด หลังจากที่องค์คณะอนุญาโตตุลาการ ได้รับฟังข้อมูลจากคู่กรณีไปแล้ว เมื่อวันที่ 3-12 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประเทศสิงคโปร์ มองว่าผลน่าจะออกมาในทางลบต่อไทยที่จะแพ้คดี
นพ.ชลน่าน เชื่อว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในอนาคต จะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อไทยที่จะเผชิญกับการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจากทรัพย์สินและสกุลเงินต่างประเทศจากความรับผิดชอบทางกฎหมาย ด้วยมูลค่ามหาศาลต่อไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เป็นไปตามความผูกพันจากพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย ตามสนธิสัญญาการรับรองและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจากต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า สนธิสัญญานิวยอร์ก (New York Convention 1958) เพราะคำชี้ขาดที่อนุญาโตตุลากาจะตัดสินมานั้น จะรวมถึงไทยที่จะถูกบังคับเอาจากทรัพย์สิน เงินสกุลไทย และต่างประเทศ ที่เป็นของราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะเป็น หุ้น กองทุน ตราสารทางการเงิน หรือ อากาศยาน เรือ ที่มีสัญลักษณ์ธงไทยทั่วโลก อย่างที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อีกทั้งข้อพิพาทที่แท้จริงในเรื่องนี้จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องการปิดเหมือง หรือปิดประตูโรงานประกอบกิจการเหมืองทอง ตามความเข้าใจของประชาชน ซึ่งรัฐบาลปกปิดไม่ให้ความจริงต่อสาธารณชน ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องความเสียหายจากการโอนกิจการเป็นของรัฐของคู่กรณีที่เป็นบริษัทผู้ลงทุนจากต่างประเทศ (ออสเตรเลีย)
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน คำสั่ง คสช.จะถูกพิจารณาเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ราชอาณาจักรไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA ที่มีพันธกรณีระหว่างประเทศ และจะเข้าลักษณะการกระทำผิดของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไทยจะไม่รอดพ้นจากความรับผิดตามหลักความรับผิดชอบแห่งรัฐ โดยไทยจะเผชิญกับความรับผิดตามกฎหมายจากอัตราการชดใช้ค่าเสียหาย ค่าชดเชยความเสียหาย ค่าเสียโอกาส และข้ออ้างสิทธิอื่น ๆ อย่างเต็มจำนวนในเชิงพาณิชย์ ทั้งจากคู่กรณี (ออสเตรเลีย) รวมถึงนักลงทุนที่เสียหายอื่นที่จะเข้าแถวเรียกร้องขอความรับผิดชอบตามกฎหมายต่อไทย ดังนั้น นายกรัฐมนตรี และ คสช. ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกทันที และในทางการเมือง ก็มีทางเลือกเดียวที่เหลือขณะนี้คือ การเปิดโอกาสทางเลือกใหม่ให้ผู้นำคณะบริหารชุดใหม่ที่น่าเชื่อถือเพื่อร่วมกันลดความเสียหายและเร่งฟื้นฟูความเชื่อถือกลับคืนมาโดยด่วน.-สำนักข่าวไทย