กรุงเทพฯ 26 ก.พ. – 5 หน่วยงาน ตั้งคณะทำงานสืบทรัพย์ เพื่อยึดทรัพย์ตามคำสั่งศาลชดใช้คดีข้าวจีทูจี หวั่นปล่อยไว้นานจะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินติดตามกลับยาก สร้างความเสียหายรัฐมากขึ้น
นายศุภฤกษ์ เอี่ยมลออ รักษาการผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กล่าวว่า 5 หน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กรมการค้าต่างประเทศ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจการบังคับคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ลงวันที่ 6 กันยายน 2562 โดยเห็นตรงกันให้จัดทำสรุปขั้นตอนการบังคับคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับจำเลยที่เป็นเอกชน คดีหมายเลขคดีที่ อม.อร 3 – 4 / 2560 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อร 2 – 3 / 2562
นายศุภฤกษ์ กล่าวว่า คำพิพากษาส่วนแพ่งให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายร่วมทั้ง 5 ราย โดยสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุดออกหมายบังคับคดี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 และแจ้งหมายบังคับคดีให้ผู้เสียหายทั้ง 5 รายครบถ้วนแล้ว จึงให้ผู้เสียหายทั้ง 5 รายแจ้งยืนยันการบังคับคดีและตรวจสอบสถานะของจำเลยต่อสำนักงานบังคับคดี เพื่อตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินที่จำเลยมี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้เสียหายทั้ง 5 ราย สืบทรัพย์สินของจำเลยลักษณะต่างคนต่างดำเนินการ จึงเห็นว่าควรตั้งคณะทำงานสืบทรัพย์สิน เพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและประหยัดเวลา ตลอดจนไม่เป็นการซ้ำซ้อนในการสืบทรัพย์ของผู้เสียหาย ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่เลขานุการของคณะทำงานดังกล่าว โดยผู้เสียหายทั้ง 5 รายต้องเป็นผู้จัดส่งข้อมูลการให้คณะทำงานฯ เพื่อดำเนินการร่วมกัน
นายศุภฤกษ์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้บางหน่วยงานเห็นว่าสมควรเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเกี่ยวกับขั้นตอนการสืบทรัพย์และบังคับคดี เนื่องจากคำพิพากษากกำหนดให้ผู้เสียหายทั้ง 5 ราย เป็นผู้เสียหายร่วม โดยไม่ได้แบ่งมูลค่าความเสียหายของแต่ละราย แต่ท้ายที่สุดเมื่อมีการได้รับชดใช้หนี้ตามคำพิพากษาก็ต้องส่งเงินให้กระทรวงการคลัง จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องตีความข้อกฎหมายใดเพิ่ม รวมทั้งไม่ต้องรออัยการทำหน้าที่สืบทรัพย์ เพราะอัยการไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ขณะนี้ อ.ต.ก.สืบทรัพย์ของจำเลยไปบ้างแล้ว เมื่อตั้งคณะทำงานร่วม 5 หน่วยงานจะยิ่งทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษารวดเร็วขึ้น หากปล่อยเวลาเนิ่นนาน เกรงจะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ทำให้ติดตามลำบาก สร้างความเสียหายต่อรัฐยิ่งขึ้นไปอีก
ในการประชุมครั้งนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ชี้แจงเรื่องการฟ้องริบทรัพย์สินในความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งบางคดีพิพากษาเสร็จ บางคดีอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า กรณีริบทรัพย์สินดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายฟอกเงิน ส่วนการบังคับคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐตามคำพิพากษานี้เป็นคนละส่วนกัน ซึ่งจะต้องร่วมกันดำเนินการให้เร็วที่สุด เนื่องจากการบังคดีมีอายุความ 10 ปี ถ้าทำไม่ทันจะยึดทรัพย์กลับมาเป็นของแผ่นดินได้ไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษา.-สำนักข่าวไทย