กรุงเทพฯ 19 ก.พ. – กลุ่ม
ปตท.เดินหน้านวัตนกรรมพลังงาน โดย GPSC ทุ่ม 1,100 ล้านบาท สร้างโรงผลิตแบตเตอรี่ฯ ต้นแบบแห่งแรกของไทย
เริ่มผลิตปลายปี 63 ตั้งเป้าเป็นแบตฯ รีไซเคิลได้ และยังร่วมกับGC เปิดใช้งานระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ Smart Energy Storage System
ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC
ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi
Solid กับทางบริษัท ไทยทากาซาโก จำกัด (Thai Takasago Co.,
Ltd.) ผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่จากประเทศญี่ปุ่น
มูลค่าสัญญา 295 ล้านบาท เมื่อรวมกับการลงทุนอื่น ๆ โครงการนี้จะมีมูลค่าโครงการกว่า
1,100 ล้านบาท โรงงานอยู่ในนิคมฯ มาบตาพุด จังหวัดระยอง
นับเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี Semi
Solidของบริษัท 24M Technologies จากสหรัฐอเมริกา
ซึ่งบริษัทฯ ได้รับลิขสิทธิ์และจัดจำหน่ายในประเทศและภูมิภาค
ทั้งนี้ โรงงานต้นแบบจะเปิดดำเนินการผลิตภายในเดือนธันวาคม 2563
ระยะแรกจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) และปีหน้าบริษมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น
100 MWh หลังจากนั้นจะพิจารณาความต้องการของตลาดจะพิจารณาสร้างโรงงานเชิงพาณิชย์แห่งใหม่ในที่ตั้งอื่นเป็นโรงงานขนาดใหญ่
(Giga Scale) ไม่ต่ำกว่า 2 GWh จะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตร
เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
เพื่อเตรียมความพร้อมด้านพลังงานที่จะรองรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งทิศทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
หรือสมาร์ทชิตี้ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและการใช้พลังงานสะอาดในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจ
“GPSC
ในฐานะหนึ่งใน Flagship ของกลุ่ม
ปตท.ที่มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมพลังงาน เพื่อก้าวสู่ธุรกิจอนาคต (S-Curve) รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี
โดยแบตเตอรี่นั้นสามารถตอบโจทย์การเป็นผู้พัฒนาระบบ Energy
Management Solution Provider เบื้องต้นจะผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับกลุ่ม
ปตท.และพัฒนาร่วมกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อต่อยอดไปสู่โซลูชั่นต่าง
ๆ ทั้งเพื่อใช้รองรับพลังงานทดแทนในอุตสาหกรรม บ้านเรือน และพัฒนาสู่ยานยนต์ไฟฟ้า
หรืออีวี ในอนาคต ซึ่งจุดเด่นของแบตเตอรี่นี้มีขั้นตอนผลิตที่สั้นลง ทำให้ต้นทุนลดลงได้ร้อยละ
30-40 และจะพัฒนาไปสู่แบตฯ ที่รีไซเคิลได้ในอนาคต” นายชวลิต
กล่าว
วานนี้ (18 ก.พ.) จีพีเอสซียังร่วมกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล
จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดใช้งานระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ
หรือ Smart Energy Storage System (ESS) ขนาด 1.5 MWh ลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท
ซึ่งเป็นระบบการสำรองไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เพื่อเพิ่มความมั่นคงและประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้าที่ป้อนให้แก่อาคารสำนักงานและศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยี
ของ GC ในจังหวัดระยอง ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ถึง 520,000
หน่วยไฟฟ้า หรือคิดเป็นร้อยละ 8.7 ต่อปี
ถือเป็นต้นแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานของกลุ่ม ปตท.
โดยมีแผนในการขยายผลไปสู่สถานประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออก
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า
การนำระบบ ESS มาใช้เป็นการควบคุมการจัดเก็บและการปลดปล่อยพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยการกักเก็บพลังงานที่เหลือใช้จากระบบผลิตไฟฟ้าจาก (Gas Engine) กำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ (MW) ที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในอาคารสำนักงาน
มากักเก็บไว้ในระบบ ESS ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงก๊าซฯ
โดยไฟฟ้าที่กักเก็บไว้ใน ESS ยังสามารถสำรองไฟฟ้าไว้ใช้ช่วงฉุกเฉินกรณีไฟฟ้าตกหรือดับ
ทำให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น โดย GC มีแผนงานที่จะขยายการติดตั้งระบบ
ESS ไปยังโรงงานปิโตรเคมีของ GC Group เพื่อส่งเสริมให้โรงงาน
มี Reliability ที่ดีต่อไป. -สำนักข่าวไทย