กรุงเทพฯ 22 ม.ค. – “มนัญญา” เห็นใจลูกจ้างกรมวิชาการเกษตรถูกเลิกจ้าง ลั่นอธิบดีฯ ต้องเร่งแก้ไขไม่ให้กระทบภารกิจหลักและจัดปริมาณงานให้สมดุลกับงบประมาณ
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่ต้องกำหนดปริมาณงานให้เหมาะสมกับงบประมาณที่ได้รับ การที่ถูกตัดงบประมาณกว่า 600 ล้านบาทนั้น เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อภารกิจหลัก รวมทั้งต้องเลิกจ้างลูกจ้างตามสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขต รวมถึงศูนย์วิจัยฯ ระดับจังหวัดจำนวนมาก ซึ่งได้ย้ำให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน
ทั้งนี้ ในการประชุมพิจารณางบประมาณปี 2563 ของสภาผู้แทนราษฎรนั้น กรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตเรื่อง ราคาเช่าคอมพิวเตอร์ของกรมวิชาการเกษตรที่สูงกว่าราคาซื้อมากจนเป็นสาเหตุให้ตัดงบลงกว่า 40% จากที่ขอไปกว่า 1,200 ล้านบาท โดยได้ทำหนังสือถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วว่ามีการทุจริตหรือไม่
“รู้สึกเห็นใจลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือนลงถึงครึ่งหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่ต้องแก้ไข รวมทั้งบริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับให้สอดคล้องกับปริมาณงาน โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อภารกิจหลักและการบริการประชาชน” น.ส.มนัญญา กล่าว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยสอบถามไปยังสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตต่าง ๆ และศูนย์วิจัยฯ หลายจังหวัดได้รับข้อมูลจากข้าราชการว่า งบประมาณที่ถูกตัดลดนั้นส่งผลกระทบต่อภารกิจหลักและการบริการประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยภารกิจตามแผน ประกอบด้วย งานวิจัยด้านวิชาการเกษตร การพัฒนาเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์พืชที่มีคุณภาพ การให้บริการด้านการรับรองมาตรฐานและการตรวจสอบสถานจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตร รวมถึงโครงการพระราชดำริต่าง ๆ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งเข้าสู่ปีงบประมาณ 2563 แต่งบประมาณยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ นั้น ทางกรมวิชาการเกษตรได้จัดสรรเงินมาให้จำนวนหนึ่ง โดยประมาณการณ์จากงบที่ใช้ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเงินที่ได้รับจัดสรรบางส่วนหมดหรือใกล้หมดแล้ว เช่น งานตรวจสอบแปลงเพื่อออกใบรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) งานออกใบรับรองมาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ (GMP) แก่โรงคัดบรรจุเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการใช้สำหรับส่งออกสินค้าเกษตรไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ขณะนี้มีหลายรายรออยู่ แต่ดำเนินการช้า เนื่องจากจำนวนบุคลากรส่วนที่เป็นลูกจ้างลดลงและงบประมาณสำหรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่เหลือน้อยมาก หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจกระทบต่อการให้บริการประชาชนและไม่เพียงพอใช้จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2563 วันที่ 30 กันยายน
ก่อนหน้านี้ น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของกรมวิชาการเกษตรลงกว่า 40% ว่า เป็นการตัดลดงบประมาณการดำเนินงาน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงบลงทุนในการจัดซื้อครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง จึงได้กำหนดแนวทางการบริหารงบประมาณโดยปรับแผนให้มีความสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ โดยให้ทุกหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทบทวนและจัดลำดับความสำคัญรายละเอียดของงานโดยเฉพาะงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกรมวิชาการเกษตร โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานด้านบริการที่มีผลกระทบต่อประชาชนและการส่งออก เช่น การตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช (GAP) โรงงานแปรรูป โรงรม (GMP) การตรวจสอบปัจจัยการผลิต ศัตรูพืช และออกใบรับรองบริการวิชาการด้านพืช การผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล เพื่อจำหน่ายและจ่ายแจกให้แก่เกษตรกร เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด รวมทั้งพืชตระกูลถั่วที่ใช้น้ำน้อย งานบริการทั้งหมดนี้จะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนงานอื่น ๆ ให้พิจารณาปรับลดปริมาณงานตามวงเงินงบประมาณที่ได้รับ
ทั้งนี้ ในการพิจารณางบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 9 มกราคม คณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 สภาผู้แทนราษฎรได้ปรับลดงบประมาณของกรมวิชาการเกษตรที่เสนอไป 1,277 ล้านบาท เหลือ 635 ล้านบาท หลังพบข้อผิดปกติการเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งสำนักงบประมาณเเจ้งว่าค่าจัดซื้อเพียง 17,000 บาท แต่กรมวิชาการเกษตรใช้วิธีเช่าเครื่องละ 60,000 บาทต่อปี ระยะเวลา 5 ปี รวมเป็น 300,000 บาทต่อเครื่อง กรรมาธิการยังระบุว่าเดิมในเอกสารงบประมาณ กรมวิชาการเกษตรชี้เเจงว่าค่าเช่าคอมพิวเตอร์เครื่องละประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน จึงเชิญอธิบดีกรมวิชาการเกษตรมาซักถามและให้กลับไปทบทวนใหม่ ต่อมากรมวิชาการเกษตรแก้ไขเอกสารแล้วส่งกลับมาเหลือเพียงเครื่องละ 800 บาทต่อเดือน โดยให้เหตุผลว่าเอกสารชุดเเรกที่ส่งมาให้คณะกรรมาธิการนั้นผิดพลาด จึงมีข้อสังเกตว่าตั้งงบหลอกกรรมาธิการหรือไม่ จนเป็นสาเหตุตัดลดงบประมาณของกรมวิชาการถึง 642 ล้านบาท .-สำนักข่าวไทย