ทำเนียบฯ 7 ม.ค. – ครม.
เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 64 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท
สงป.พร้อมปล่อยท่องบประมาณออกสู่ระบบ ต้นเดือน ก.พ. ยอดเงิน 1.8 ล้านล้านบาท
เข้มเร่งรัดเบิกจ่ายช้า กระทบต่อการของบปี 64
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า
ที่ประชุม ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 กรอบรายจ่าย 3.3
ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบบาท
จากปี 63 มีวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท
ประมาณการรายได้วงเงิน 2.777 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 46,000 ล้านบาท
จากกรอบวงเงิน 2.731 ล้านล้านบาท
จัดทำงบประมาณแบบขาดดุล วงเงิน 523,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
มีวงเงิน 469,000 ล้านบาท
เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน
ด้านงบลงทุนวงเงิน 6.93 แสนล้านบาท มีสัดส่วนร้อยละ 21
ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนงบประจำวงเงิน 2.5 ล้านล้านบาท ภายใต้สมติฐานจีดีพีขยายตัวร้อยละ 3.1 – 4.1
การจัดทำกรอบงบประมาณยังอยู่ภายใต้วินัยทางการเงินการคลัง
เตรียมเปิดให้ส่วนราชการเสนอคำของบประมาณในวันที่ 24 ม.ค.63 จากนั้นเสนอที่ประชุม ครม. 17 มี.ค.
พิจารณาแผนจัดทำงบประมาณ
สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 63 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจาณาวาระ 2 – 3 วันพรุ่งนี้ จากนั้น สว.ประชุมพิจารณาในช่วง 20 ม.ค. เมื่อนำขึ้นมูลเกล้า
คาดว่าช่วงต้นเดือน ก.พ. 63 งบประมาณรายจ่ายปี 63
ออกสู่ระบบให้ส่วนรายการที่ยื่นของบใช้เงินได้ทันทีทั้งงบประจำและงบลงทุน 1.8 ล้านล้านบาท หลังจากต้องเบิกจ่ายล่าช้าไป 5-6 เดือน หลังจากที่ผ่านมาได้เบิกจ่ายงบพลางก่อนไปแล้ว
1.2 ล้านล้านบาท เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 บังคับใช้ สัปดาห์หน้า
สำนักงบประมาณ จะประกาศมาตรการร่งเรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การจัดทำ TOR การเตรียมเพื่อให้ส่วนราชการต้องเร่งรัดจัดซื้อจัดจ้างปลายเดือนมี.ค.
– พ.ค. จากนั้นหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องเบิกจ่ายให้ได้ร้อยละ 50 ของวงเงินลงทุน
หากเบิกจ่ายไม่ได้ตามข้อกำหนด จะส่งผลต่อการเสนอขอจัดสรรงบประมาณปี 64
จึงขอให้ส่วนราชการยึดข้อเสนอข้อสังเกตุของกรรมาธิการงบประมาณ
ให้เร่งรัดจัดซื้อคุรุภัณฑ์ ความสมเหตุสมผลการใช้งบประมาณต้องอธิบายได้ โดยต้องจัดอันดับความสำคัญของการใช้งบประมาณ
โดยคาดว่าส่วนราชการทุกแห่งเสนอคำของบประมาณมากกว่า 5
ล้านล้านบาทมากกว่าปีที่ผ่านมา
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว่า ที่ประชุม ครม.
เห็นชอบตามที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน เสนอเปลี่ยนแปลงโครงการปี 62
สำหรับยกระดับโครงสร้างพื้นฐานกองทุนหมู่บ้านวงเงิน 14,000 ล้านบาท
เพื่อขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์ เป็นโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
เพื่อดูแลการท่องเที่ยวชุมชน สินค้าชุมชนในท้องถิ่น และขอยุติโครงการเดิม 3 โครงการ วงเงิน 2,400 ล้านบาท และเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายงบประมาณตามนโยบายรัฐ เพื่อตั้งงบนำส่งคืนสำนักงาน กทบ.ในภายในปี 64
เพื่อนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มเติม . – สำนักข่าวไทย