ทำเนียบฯ 3 ม.ค.- พล.อ.ประวิตร เรียกถกปัญหาความเสื่อมโทรมทางทะเลที่ขยายตัว ย้ำเร่งสร้างความร่วมมือฟื้นฟูสุขภาพทางทะเล โดยยึดประโยชน์ส่วนรวม
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ณ ห้องประชุม สมช. เพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ขยายวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบ สถานการณ์โลกและภูมิภาค ที่มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบไม่มีทิศทาง ส่งผลต่อความเสื่อมโทรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมากขึ้น และขยายวงกว้าง โดยเฉพาะประเทศไทย มีมูลค่าของเศรษฐกิจภาคทะเล ปี 57 สูงถึง 24 ล้านล้านบาท หรือช่วง ปี 50 – 58 มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจภาคทะเลประมาณ ร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แต่ผลประโยชน์ทางทะเลที่ประเทศไทยได้รับไม่ตกอยู่กับคนไทยในสัดส่วนที่ควรจะเป็น
โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่การสูญเสียผลประโยชน์ทางทะเลสุทธิ โดยเฉพาะการเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรับทราบ โครงสร้างอัตรากำลังของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลและแผนปฏิบัติการ ปี 63-65 ที่เน้นการดำเนินงานใน 5 กลยุทธ์ คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง แก้ไขหรือบรรเทาปัญหา เหตุการณ์สาธารณภัยและการกระทำผิดกฎหมาย การพัฒนาขีดความสามารถและมาตรฐานของบุคลากร การพัฒนาสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาระบบควบคุมบังคับบัญชาและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ และการประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล เพื่อเป็นกลไกทางวิชาการ สนับสนุนข้อมูลทางนโยบายและการขับเคลื่อนการปฏิบัติ พร้อมทั้งรับทราบความคืบหน้าอนุบัญญัติรองรับพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562
โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรย้ำในที่ประชุมขอให้หน่วยงานหลักของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ต้องถือเป็นหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและให้ความสำคัญเดินหน้าขับเคลื่อนกลไกในความรับผิดชอบสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลให้โปร่งใส และบังเกิดผลอย่างจริงจัง โดยต้องมีตัวชี้วัดสะท้อนกับสถานการณ์ความเป็นจริง มีการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล ขอให้ร่วมกันสร้างความปลอดภัยทั้งมิติในและนอกประเทศไปด้วยกัน รวมทั้งให้ปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับกฎหมายสากล มุ่งเน้นความยั่งยืนและประโยชน์ต้องตกกับคนไทยส่วนใหญ่ ขอให้คำนึงถึงทั้งมิติความมั่นคง มิติเศรษฐกิจทางทะเล และมิติของสุขภาพทางทะเลควบคู่ไปด้วยกัน ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและต้องไม่ละเลยรับฟังผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อขยายพลังความร่วมมือในการฟื้นฟูและรักษาผลประโยชน์ทางทะเลไปด้วยกัน.-สำนักข่าวไทย