พังงา 26 ธ.ค.-วันนี้เป็นวันครบรอบ 15 ปี เหตุการณ์สึนามิพัดถล่ม 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามันที่ประสบภัยพิบัติสึนามิ จัดงานรำลึกเหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือที่สวนอนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็มพังงา ค่ำวันนี้มีการจัดพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิต และเปิดเวทีเสวนาถอดบทเรียน 15 ปีที่ผ่านมา จากบุคคลที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิมากกว่า 5,000 คน โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดก็คือ จ.พังงา โดยเฉพาะที่บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จุดที่รายงานสดอยู่ในขณะนี้ ซึ่งถือเป็นชุมชนที่ล้อมรอบด้วยทะเล ทำให้คลื่นยักษ์ถาโถมคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 1,000 คน วันนี้มีญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตเดินทางมาร่วมจุดเทียนรำลึกถึงผู้จากไป ขณะเดียวกัน ในเวทีเสวนาวันนี้ มีข้อมูลว่าแม้เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิจะผ่านมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว แต่ว่าจนถึงวันนี้ยังมีร่างของผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ได้ถูกส่งกลับคืนครอบครัวราว 400 ศพ
ที่สวนอนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาร่วมจุดเทียนรำลึก และวางช่อดอกไม้ เพื่อไว้อาลัย ต่อการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก ในเหตุการณ์สึนามิพัดถล่มชายฝั่งอันดามัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ก่อนจะนำเทียนทั้งหมดมาปักรวมกันบริเวณชายหาดบ้านน้ำเค็ม บางคนเขียนข้อความแสดงความอาลัยลงบนหาดทราย
ทั้งนี้ แม้ว่าเหตุการณ์จะล่วงเลยมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว แต่ผู้มาร่วมงานซึ่งก็ล้วนต้องสูญเสียคนที่รักไปแบบไม่มีวันกลับ ก็ยังคงอยู่ในอาการเสียใจ จากการพูดคุย ทราบว่าบางคนต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปพร้อมกันในคราวเดียวนับสิบชีวิต
ขณะที่เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา มีการจัดเวทีเสวนาเพื่อถอดบทเรียน 15 ปี สึนามิ โดยมีบุคคลที่เคยอยู่ในเหตุการณ์เมื่อ 15 ปีก่อน เข้าร่วมพูดคุย อาทิ นายไมตรี จงไกรจักร ชาวบ้านน้ำเค็มผู้ที่สูญเสียญาติไปพร้อมกันร่วม 40 คน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของทีมพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลเมื่อปี 47 โดยมีชาวบ้านน้ำเค็มเข้าร่วมรับฟัง
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ยังใช้เวทีนี้พูดถึงกรณีบุคคลสูญหายเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 47 ซึ่งปัจจุบันยังหาไม่พบอีกนับพันราย ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นบุคคลต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำให้ทางการไทยไม่มีข้อมูล
ส่วนกรณีร่างของผู้เสียชีวิตจากเหตุสึนามิราว 400 ศพ ที่ปัจจุบันทางการไทยยังไม่สามารถส่งกลับให้แก่ครอบครัวได้นั้น ยืนยันว่า ทั้งหมดนั้นมีการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลเสร็จสิ้นแล้ว แต่สาเหตุที่ยังไม่สามารถส่งคืนกลับครอบครัวได้ เนื่องจากไม่มีญาติมาติดต่อขอรับ ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะปัญหาเรื่องการจัดการระบบฐานข้อมูลของไทยเองด้วยที่ยังไม่ดีพอ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องนี้เสนอแนะว่า รัฐบาลควรมีการสร้าง Big Data ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลต่างด้าว หรือบุคคลนิรนามไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการติดตามค้นหาหากเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ขึ้นอีกในอนาคต
ขณะที่นายไมตรี จงไกรจักร ชาวบ้านน้ำเค็ม ซึ่งร่วมเสวนาในเวทีปฏิญญาอันดามัน เรียกร้องขอให้รัฐบาลแก้ปัญหากับระบบเครื่องมือสื่อสาร หลังพบว่าตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา อุปกรณ์สื่อสารการแจ้งเตือนภัยของรัฐยังด้อยประสิทธิภาพ หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนยังขาดการบูรณาการร่วมกัน พร้อมเสนอแนะให้มีการจัดทำป้าย
บอกเส้นทางหนีคลื่นยักษ์สึนามิใหม่ในพื้นที่เสี่ยง หลังสำรวจพบว่าป้ายบอกเส้นทางมีความสับสนไม่สามารถใช้งานได้จริง เช่นเดียวกับอาคารหลบภัยสึนามิ ซึ่งใช้งบประมาณก่อสร้างหลังละหลายสิบล้านบาท ปัจจุบันในหลายพื้นที่ถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพชำรุดและพังเสียหาย.-สำนักข่าวไทย