สศช. 19 ธ.ค.-“พล.อ.ประวิตร” ประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน น้อมนำศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มุ่งสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืน
พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (19 ธ.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องประชุม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พล.อ.ประวิตร ได้ให้นโยบายถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องน้อมนำศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นหลักการปฏิบัติและจะต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งนับเป็นสิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และมีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ โดยประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการดำเนินการในระดับท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ประเทศไทยยังคงมีประเด็นท้าทายหลายด้าน และไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ ปัญหาขยะทะเล ตลอดจนการรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ล้วนต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี พ.ศ.2573
พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบผลการจัดอันดับการรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDSN) และมูลนิธิแบร์เทลส์มันน์ปี พ.ศ.2562 โดยไทยอยู่อันดับที่ 40 จาก 162 ประเทศทั่วโลก ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2561 รวม 19 อันดับ (เดิม 59) เป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียน และได้มีการพิจารณาและเห็นชอบเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ ร่างแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย รวมถึงเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่
พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมฯ พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการประสานงานกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ สนับสนุนการดำเนินการในพื้นที่นำร่อง ซึ่งมีแผนอยู่ 6 จังหวัด เพื่อให้เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนเป้าหมายในระดับพื้นที่ต่อไป และต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดความเหลื่อมล้ำ และมีแผนงานการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อให้เห็นประโยชน์ร่วมกัน และเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่ยั่งยืนต่อไป.-สำนักข่าวไทย