กทม. 9 ธ.ค. – เครือข่ายสิทธิผู้พิการออกมาเรียกร้องให้คนในสังคมมีจิตสำนึก และร่วมกันตำหนิคนที่ไม่เคารพกฎระเบียบ หลังเกิดเหตุคนทุบกระจกรถที่จอดในช่องคนพิการทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้พิการ พร้อมเสนอให้ออกบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนจอด เพราะที่ผ่านมาแม้จะปลูกฝังจิตสำนึก แต่ไม่ได้ผล
ทันที่เกิดเหตุเหตุชายคนหนึ่งทุบกระจกของคนที่ไม่พิการ แต่กลับจอดรถในช่องคนพิการ ห้างสรรพสินค้าในจังหวัดเชียงราย หน่วยงานที่เรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิผู้พิการ อย่าง Accessibility is freedom ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องหลายข้อ เช่น ให้ห้างสรรพสินค้าดังกล่าวปรับปรุงดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ หรือให้คนในสังคมมีจิตสำนึก และตำหนิคนที่ไม่เคารพกฎระเบียบ
นักเคลื่อนไหวเพื่อคนพิการให้ข้อมูลว่า ที่จอดรถคนพิการถือว่าสำคัญสำหรับผู้พิการมาก ในกฎหมายระบุให้สร้างในสถานที่ต่างๆ พร้อมกำหนดรูปแบบอย่างเช่น ต้องจัดไว้ใกล้ทางเข้าออกอาคารมากที่สุด มีสัญลักษณ์แสดงให้เห็น ที่จอดรถต้องเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างไม่น้อยกว่า 2,400 มิลลิเมตร ยาวไม่น้อย 6,000 มิลลิเมตร และต้องมีที่ว่างข้างรถกว้างไม่น้อยกว่า 1,000 มิลลิเมตร ในปัจจุบันพบว่าแทบทุกสถานที่มีการสร้างที่จอดรถคนพิการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ แต่ก็ยังพบคนปกติที่ฝ่าฝืนจอดในที่ของคนพิการ
คนที่มีร่างกายที่ด้อยกว่า ต้องการสิ่งที่สนับสนุนให้ชีวิตมีความเท่าเทียมกัน ที่จอดรถคนพิการก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่จะสนับสนุนให้เกิดสิ่งนี้ได้ ถ้าคนพิการอย่างผมนั่งรถวิลแชร์ แล้วผมขับรถไปจอดรถที่คนทั่วไป ก็จะเจอปัญหาคือช่องว่างระหว่างรถมันไม่พอมันขึ้นลงไม่ได้ ต้องเรียก รปภ.มาช่วยดันรถเข้าออก ก็จะเกิดความชุลมุน ความไม่สะดวก
นักเคลื่อนไหวเพื่อคนพิการ ระบุว่า กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นที่เชียงราย สะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมบางส่วนยังไม่มีความรับผิดชอบ และละเมิดสิทธิคนพิการอยู่ เพราะขณะนี้แม้จะมีกฎหมายให้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการดูแล-ควบคุมในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืน จึงต้องการให้มีการระบุบทลงโทษ เพราะการปลูกฝังจิตสำนึกบางครั้งไม่ได้ผล
ตอนนี้ส่วนหนึ่งของปัญหาคือ กฎหมายยังไม่มีกำหนดชัดเจนในจุดนี้ว่าดูแลควบคุมให้ใช้งานได้จริง เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ ห้างสรรพสินค้า เจ้าของสถานที่ ก็เหมือนกับยังไม่มีเครื่องมืออาวุธที่ชัดเจนจะมาทำงานเรื่องนี้ พอไม่มีเรื่องพวกนี้กำหนดไว้ ก็เลยต้องอาศัยสามัญสำนึกของสังคมคือความรับผิดชอบของคนในสังคม
มีข้อมูลว่า ในต่างประเทศอย่างอังกฤษและญี่ปุ่น ที่มีการกำหนดผู้มีสิทธิ์ จะได้ใช้ที่จอดรถคนพิการ และบทลงโทษชัดเจน เช่น ต้องเป็นผู้พิการที่รัฐออกใบอนุญาตให้จอดได้ ต้องติดสติกเกอร์ให้เจ้าหน้าที่เห็นได้ และผู้ที่ทำผิดจะต้องถูกปรับในจำนวนที่สูงมาก เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ใดฝ่าฝืนจอดรถในที่สำหรับคนพิการ. – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
►เปิดใจหนุ่มทุบรถจอดที่คนพิการ พร้อมชดใช้ค่าเสียหาย