สำนักข่าวไทย 25 พ.ย. – ผอ.สถาบันจิตเวชฯสมเด็จเจ้าพระยา รับผู้ก่อเหตุฆ่าหั่นแม่ เป็นคนไข้ในรพ.จริง แต่อยู่ในระหว่างเพิ่งเริ่มกระบวนการรักษา ไม่สามารถเปิดเผยหรือระบุโรคที่ป่วยได้แน่ชัด ย้ำ ผู้ป่วยทางจิตทุกคนก่อเหตุรุนแรงทำร้ายคนอื่นได้น้อยมาก มีแค่ ป่วยจิตหูแว่ว ประสาทหลอน ติดสารเสพติด และบุคลิกภาพผิดปกติ ถึงทำได้
นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวถึงกรณีเหตุมาตุฆาต ที่นายศิระ สมเดช ฆ่าหั่นศพแม่ของตนเอง จากนั้นยิงตนเองเสียชีวิต ว่า แม้ข้อมูลจากทาง ตำรวจจะระบุว่า นายศิระเป็นคนไข้รับการรักษาที่สถาบันจิตเวชฯสมเด็จเจ้าพระยา แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าป่วยอะไร เนื่องจากอยู่ในกระบวนการเริ่มต้นรักษา โดยคนไข้มารักษาแค่ 2 ครั้งเท่านั้น จึงยังไม่สามารถระบุอะไรได้ และอาจเป็นได้ว่าเพิ่งรับยาไปไม่นาน ทั้งนี้ คนไข้ที่มีอาการป่วยทางจิต จะก่อเหตุทำร้ายคนอื่นถึงแก่ความตายนั้น ยืนยันว่า มีเกิดขึ้นได้ แต่น้อยมาก มีแค่ 3 อาการเท่านั้น ได้แก่ 1.ป่วยเป็นโรคจิต มีอาการหูแว่ว ประสาท หลอน สูญเสียการสั่งการ กระทำโดยไม่รู้ตัว 2. มีอาการใช้สารเสพติดร่วม ทำให้เกิดการกระทำรุนแรง 3. มีความผิดปกติทางบุคคลภาพ ถึงจะกระทำรุนแรงกับผู้อื่นได้
นพ.ธรณินทร์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ของการกระทำรุนแรงในผู้ป่วยทางจิต เกิดจากความหวาดระแวง กลัวคนมาทำร้าย และไม่สามารถควบคุมตนเอง ต้องใช้ยาระงับ ปัจจุบัน ในการรักษาอาการทางจิต มีความก้าวหน้าไปมา มีทั้ง ยาฉีด ยารับประทาน แต่ผู้ป่วยต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคนไข้ต้องไม่ขาดยา ทั้งนี้สำหรับครอบครัว ที่มีผู้ป่วยทางจิต ทางจิตแพทย์จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวกับญาติ หรือคนใกล้ชิดเสมอว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เวลาไหนมีอารมณ์โกรธ หรือ กระทำอย่างไรที่จะก่อให้เกิดการกระตุ้นทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์รุนแรง
ด้านนพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า ปัญหาการกระทำรุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิต หากผู้ก่อเหตุเป็นผู้ป่วยทางจิต จะเข้าสู่กระบวนการนิติจิตเวช จะมีการสอบสวนถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุ สติรู้ตัวขณะกระทำหรือไม่ ผู้ป่วยมีความพร้อมในการต่อสู้ทางคดีหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ เป็นกระบวนการสอบทางอาชญาวิทยา ทั้งนี้เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ป่วย เพราะโดยปกติของอาการป่วยไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนต้องกระทำรุนแรงกับคนอื่น มีแค่ ผู้ป่วย 3 กลุ่มเท่านั้น 1. ป่วยจิต ที่จะมีอาการหูแว่วประสาทหลอน 2.ติดสารเสพติด 3. บุคลิกภาพผิดปกติ
นพ.ศรุตพันธ์ กล่าวว่า ส่วนความรุนแรงที่มักพบเห็นป่วยครั้งในสังคม ที่บุตรมักกระทำกับบิดามารดา ไม่ว่าจะทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สิน มาได้จาก 1. ปัจจุบันสังคมขาดความผูกพันธ์ในครอบครัว พ่อแม่ได้เสี้ยงดูให้เวลากับบุตร ทำให้บุตรเมื่อกระทำรุนแรง ก็คิดว่าพ่อแม่ไม่ต่างจากคนแปลกหน้า หรือคนอื่น 2.ซึมซับความรุนแรง จากสังคม และสื่อต่างๆ ทำให้เกิดความชาชิน และขาดความเคารพผู้ใหญ่ จากความคิดความเชื่อเรื่องอิสระ การโตเป็นผู้ใหญ่ต้องไม่มีพ่อแม่มามีส่วนเกี่ยวข้องตัดสินใจ ดังนั้นทางแก้ครอบครัวต้องให้เวลาร่วมกันมากขึ้น พ่อแม่ใช้เวลากับลูก และทำให้เป็นแบบอย่างเกิดความผูกพันธ์ .-สำนักข่าวไทย