ทำเนียบฯ 7 พ.ย.-“วิษณุ” เผยคืนโควตากรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 คน ให้วิปรัฐบาล ชี้ประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ควรมีมนุษย์สัมพันธ์ดี บารมีมาก ปัดเข้าไปทำงานร่วม กมธ.คณะนี้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสัดส่วนของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ว่า วิปรัฐบาลได้แจ้งแล้วว่าสัดส่วนของกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 49 คน สัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาล 18 คน ฝ่ายค้าน 19 คน รัฐมนตรี 12 คน ซึ่งรัฐมนตรีจะรับโควต้าไว้เพียง 6 คนเท่านั้น และทั้ง 6 คนนี้จะมีคนนอกเข้ามาด้วย เพราะรัฐมนตรีไม่มีเวลาเข้าร่วมประชุม โดยจะคืนอีก 6 คนให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ วิปรัฐบาล ไปดำเนินการ
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า สำหรับโควตา 6 คนของรัฐบาลเมื่อไม่มีรัฐมนตรี ก็จะมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) เข้าไปร่วมด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่มีส่วนร่วม และจะมีองค์กรอิสระ ฝ่ายกฏหมายของรัฐบาลด้วย
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ส่วนที่เหลือ 6 คนที่คืนไป เห็นว่าควรจะเป็นคนนอกที่ได้ผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ เช่น กกต. เป็นต้น ซึ่งได้หารือกับวิปรัฐบาลและตกลงตามความเห็นนี้แล้ว ส่วนรายละเอียดจะมานั่งคุยกันอีกครั้งว่าจะพิจารร่วมกันว่าจะให้ใครเข้าไปทำหน้าที่บ้าง น่าจะทราบรายชื่อเมื่อญัตติเข้าสู่สภาฯ
ส่วนที่มีการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ขัดข้อง
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่านายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ จะเข้ามาชิงตำแหน่งประธานกรรมาธิการฯ นั้น นายวิษณุ ไม่ขอแสดงความเห็น เมื่อถามว่าคนเป็นประธานกรรมาธิการฯ ต้องเป็นคนของรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะจะเป็นเรื่องที่ 49 คนจะเป็นผู้โหวตกันเอง
“ไม่ได้คิดว่ากรรมาธิการชุดนี้จะชี้เป็นชี้ตายอะไรมาก แต่เป็นการเปิดประตูให้มีการศึกษาว่าหากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปได้จะมีวิธีใด ประเด็นใดที่จะนำไปสู่การยอมรับว่าเป็นไปได้ที่จะมีการแก้ไข เพราะต้องดูองค์ประกอบรายละเอียด ตามที่ทราบกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีหลายด่าน ด่านที่ 1 ต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญเข้าไปในที่ประชุมร่วมกัน และด่านที่ 2 ต้องได้คะแนนเสียงที่ประชุมร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่แค่เสียง ส.ส. 500 เสียง , ส.ว. 250 เสียง แต่มีวิธีนับคะแนนที่ซับซ้อนกกว่านั้น ด่านที่ 3 การแก้รัฐธรรมนูญบางเรื่องต้องนำไปสู่การทำประชามติ บางเรื่องไม่ต้องทำ หากเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติ ก็ต้องใช้เงิน 3 พันล้านบาทในการออกเสียงประชามติ และหลังผ่านประชามติ คือ ขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและใช้เวลา ดังนั้นกรรมาธิการชุดนี้จะเป็นวิศวกรในการออกแบบสิ่งเหล่านี้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ประธานในการศึกษารัฐธรรมนูญมีได้ทั้งคนในและคนนอก ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะศึกษาหลายครั้ง แต่เมื่อมาถึงขั้นยกร่างรัฐธรรมนูญ เพระามีส่วนได้เสีย จะกลายเป็นคนนอกส่วนใหญ่ คุณสมบัติของคนที่จะเข้ามา มนุษยสัมพันธ์ดีในการพูดคุยหารือกับกรรมาธิการ 49 คนในทิศทางเดียวกัน บารมีดี แต่หากประธานร่างต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ขอยกตัวอย่างว่าที่ผ่านมาทำไมต้องเป็นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะนายมีชัย สามารถอธิบายรายละเอียดของผลดีผลเสียของแต่ละด้านได้โดยละอียด
เมื่อถามว่า หากกรรมาธิการศึกษารัฐธรรมนูญฯ มาเชิญเป็นที่ปรีกษา จะตัดสินใจไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ไป ไม่เป็นอะไรทั้งนั้น.-สำนักข่าวไทย