แนะผู้ส่งออกปรับตัวรับมือภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น

นนทบุรี 28 ต.ค. – กรมการค้าต่างประเทศย้ำสหรัฐฯ ประกาศระงับสิทธิ GSP ไทยบางส่วนชั่วคราว ภาครัฐเตรียมใช้เวทีต่าง ๆ เจรจาขอคืนสิทธิฯ แนะผู้ส่งออกเตรียมปรับตัวรับมือภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น 


นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่สมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐฯ (American Federation Labor & Congress of Industrial Organization: AFL-CIO) ได้ยื่นคำร้องให้ตัดสิทธิ GSP ไทย เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 และวันที่ 16 ตุลาคม 2558 เนื่องจากเห็นว่าไทยมิได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องสหรัฐฯ และมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แต่สหรัฐฯ มองว่าไทยยังไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกแถลงการณ์ประธานาธิบดี (President Proclamation) ระงับสิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป ( GSP) ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากประเทศ โดยจะระงับการให้สิทธิ GSP เป็นการชั่วคราว ซึ่งด้านแรงงานทางกระทรวงแรงงานไทยจะเร่งทำสรุปเนื้อหา เพื่อนำเสนอหรือแจงให้สหรัฐทราบต่อไป


สำหรับสินค้านำเข้าจากไทย  573 รายการ มีผลบังคับ 6 เดือนนับจากการประกาศแถลงการณ์นี้ หรือวันที่ 25 เมษายน 2563 ซึ่งมีหลายประเทศถูกประกาศตัดสิทธิดังกล่าวเช่นกัน โดยหลักการสหรัฐฯ จะมีหลักในการทบทวนพิจารณา GSP กับประเทศผู้ที่ได้รับสิทธิฯ อาทิ ระดับการพัฒนาประเทศ (รายได้ประชาชาติต่อหัวไม่เกิน 12,055 ดอลลาร์สหรัฐฯ) การเปิดตลาดสินค้าและบริการ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การกำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจน และการสนับสนุนสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้าย รวมถึงการกำหนดมูลค่าการนำเข้าไม่เกินกฎว่าด้วยความจำเป็นด้านการแข่งขัน โดยถือว่าสินค้านั้นมีความสามารถแข่งขันสูงในตลาดสหรัฐฯ และไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิ GSP ซึ่งกำหนดไว้ 2 กรณี คือ 1.มูลค่านำเข้าสหรัฐฯ เกินมูลค่าขั้นสูงที่สหรัฐฯ กำหนดแต่ละปี โดยปี 2561 กำหนดไว้ที่ 185 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (โดยให้เพิ่มขึ้นทุกปีๆ ละ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และ 2.ส่วนแบ่งตลาดนำเข้าจากสหรัฐฯ เกินร้อยละ 50  แต่มูลค่านำเข้าสหรัฐฯ ของสินค้าดังกล่าวต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐฯ กำหนด ซึ่งปี 2561 เท่ากับ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาสิทธิ GSP มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งจากประเทศที่สหรัฐฯ ให้สิทธิ GSP ทั้งหมด 119 ประเทศ ขยับขึ้นมาแทนอินเดียที่ถูกตัดสิทธิ GSP ไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 จากการระงับสิทธิ GSP ทั้ง 573 รายการ ไม่ได้หมายความว่าไทยจะไม่สามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯ หรือสูญเสียมูลค่าที่ได้รับสิทธิ GSP ประมาณ 40,000 ล้านบาท ไทยยังคงส่งออกไปได้ตามปกติเพียงต้องเสียภาษีในอัตราปกติ (MFN Rate) เฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.5 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณไม่เกิน 1,500- 1,800 ล้านบาท สินค้าสำคัญที่ถูกระงับสิทธิ GSP ได้แก่ มอเตอร์ไซค์ แว่นสายตา เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก อาหารปรุงแต่ง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ทองแดง ผลิตภัณฑ์เซรามิก เครื่องประดับ โดยกลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บภาษีอัตราสูงสุด คือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัวเซรามิก (ร้อยละ 26) และอัตราต่ำสุดคือเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 0.1)


อย่างไรก็ตาม กรมการค้าต่างประเทศได้เชิญผู้ประกอบการหารือ เพื่อรับทราบสถานการณ์และประเมินผลกระทบ หากถูกเพิกถอนสิทธิ GSP อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 โดยแนะนำให้ผู้ประกอบการหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิม โดยเฉพาะตลาดอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ ตะวันออกลาง ฯลฯ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากประเทศที่ไทยจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA 13 กรอบความตกลง จากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ซึ่งผู้ประกอบการสามารถทั้งนำเข้าวัตถุดิบและสามารถส่งออกสินค้าโดยใช้สิทธิพิเศษฯ ทางภาษีได้จากข้อตกลง FTA รวมทั้งขยายการลงทุนไปยังประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP สหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีมากกว่าไทย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการแข่งขัน และปรับเปลี่ยนสร้างมูลค่าเพิ่มตัวสินค้า โดยยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนการแสวงหาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มาปรับปรุงสินค้า ศึกษาและทำการวิจัย เพื่อพัฒนา สินค้า ให้มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอแทนการแข่งขันด้านราคาและเพื่อรองรับสถานการณ์ทางการค้าในตลาดโลกที่มีการแข่งขันเสรีได้   

ทั้งนี้ ภาครัฐคงต้องดำเนินการเจรจาขอคืนสิทธิฯ โดยเร็วที่สุด คาดว่าจะยื่นขอเจรจากับสหรัฐฯ หลังช่วงการประชุม East Asia Summit ภายใต้การประชุมสุดยอดอาเซียนในประเทศไทยที่กำหนดจะจัดขึ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งเจรจาภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council : TIFA-JC) ต่อไป.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

อัญเชิญเรือพระที่นั่งกลับพิพิธภัณฑ์

หลังสร้างความตราตรึงให้กับชาวไทยและคนทั้งโลก กับความงดงามของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กองทัพเรือ และกรมศิลปากร เริ่มอัญเชิญเรือพระที่นั่ง และเรือพระราชพิธี กลับเข้าสู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องใช้ความละเอียด รอบคอบ เพราะเรือทุกลำถือเป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดิน

ย้อนรอยเส้นทางชีวิต “บิ๊กโจ๊ก”

เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้วที่เส้นทางตำรวจของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ต้องยุติลง หลังถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน กรณีพัวพันเว็บพนันออนไลน์ จากนี้ชะตาชีวิต “บิ๊กโจ๊ก” ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช. ว่าจะได้กลับมาสวมชุดตำรวจอีกหรือไม่

“ปานเทพ” เปิดหลักฐานสัญญาชัด 71 ล้านเป็นชื่อ “มาดามอ้อย”

“อ.ปานเทพ” เปิดหลักฐานหนังสือสัญญาบอกชัด 71 ล้านบาท เป็นชื่อ “มาดามอ้อย” เปิด 3 รายชื่อให้เร่งตรวจสอบ หวั่นโยกย้ายทรัพย์สิน