กรุงเทพฯ 3 ก.ย. – รมว.เกษตรฯ พร้อมตอบคำถามเครือข่ายต้านสารเคมีฯ หลังเตรียมบุกทวงถามจุดยืนยกเลิกใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 9 ตุลาคมนี้ ยินดีให้ผู้แทนเครือข่ายต้านสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 686 องค์กรเข้าพบ พร้อมตอบทุกคำถามถึงการพิจารณายกเลิกสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ยืนยันมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้ประชาชนเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีที่มีพิษ แต่การพิจารณายกเลิกหรือไม่เป็นเรื่องที่ดำเนินมาก่อนที่ตนจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตรายนั้น ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยง คือ คณะกรรมการวัตถุอันตราย จึงต้องการถามว่า พิจารณาเรื่องนี้มา 2 ปี เหตุใดจึงไม่ยกเลิก กระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานปฏิบัติพร้อมยกเลิกอยู่แล้ว จึงมอบหมายให้นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไปดำเนินการ เพราะกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการอนุญาตขึ้นทะเบียนและนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า จากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา สรุปว่าจะลงมติการยกเลิกใช้หรือไม่ในอีก 60 วัน ดังนั้น ฝ่ายที่เรียกร้องให้ยกเลิกช่วยไปขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิก ซึ่งจะเป็นการจับมือกับกระทรวงเกษตรฯ ที่พร้อมยกเลิกแน่นอน
“ที่ผ่านมาไม่พูด เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ถึงตอนนี้คณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องออกมาชี้แจงสังคมให้ชัดเจนว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิก กระทรวงเกษตรฯ พร้อมปฏิบัติ สำหรับ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) ที่จะประกาศใช้วันที่ 27 ตุลาคมนี้ จะเปลี่ยนประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ หากเห็นว่าไม่สมควรใช้สารเคมี 3 ชนิดดังกล่าวก็ให้มีมติให้ชัดเจน ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่เน้นเรื่องความปลอดภัยของทั้งเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคทุกคน” นายเฉลิมชัย กล่าว
นายเฉลิมชัย กล่าวย้ำถึงเรื่องที่เครือข่ายต้านสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 686 องค์กรออกมาระบุว่า มีผู้แทนบริษัทผลิตและนำเข้าสารเคมี 3 ชนิดนี้เข้าไปล็อบบี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ให้ยกเลิกการใช้ว่า ไม่เคยพบ และไม่เคยรู้จักบริษัทขายสารเคมี แต่เมื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มอบหมายให้ชี้แจงกับเครือข่ายต้านสารเคมีก็ยินดีตอบทุกข้อสังสัย กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายส่งเสริมขยายเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ ดังนั้น จึงชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าสารเคมีชนิดไหนก็ไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์ ซึ่งความปลอดภัยของประชาชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า ได้เห็นเอกสารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ลงนามโดยนางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน อดีตรองปลัดกระทรวงฯ โดยในหนังสือระบุว่า 1. กรมวิชาการเกษตรยกร่างหนังสือเรียนปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อขอให้พิจารณาจัดวัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถอันตรายชนิดที่ 4 คือ ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และจำหน่ายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 และ 2. ได้นำหนังสือเรียนหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ถึงแนวทางในการดำเนินการและได้รับข้อเสนอแนะว่า ควรดำเนินการตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการให้จํากัดการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส และได้มอบหมายกรมวิชาการเกษตรจัดทำและดำเนินมาตรการจำกัดการใช้
ทั้งนี้ นายวิฑูรย์ ระบุว่า ข้อสั่งการดังกล่าวหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และเลขาพรรคประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนการยกเลิกใช้สารพิษร้ายแรงตามข้อเสนอของนางสาวมนัญญา อีกทั้งยังสวนทางมติของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เรียกร้องให้มีการยกเลิกใช้สารพิษร้ายแรงภายในสิ้นปี 2562 ดังนั้น เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) และเครือข่ายต้านสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 686 องค์กร จึงทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอทราบจุดยืนของพรรค เนื่องจากตอนหาเสียงเลือกตั้งได้กล่าวให้สัญญาประชาคมว่าพรรคมีนโยบายยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้ว อีกทั้งเลขาธิการพรรคเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จุดยืนของนายเฉลิมชัยสอดคล้องกับจุดยืนของพรรคหรือไม่ ซึ่งได้รับแจ้งจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า ให้เข้าพบและสอบถามนายเฉลิมชัยในฐานะผู้แทนพรรควันที่ 9 ตุลาคมนี้
นายวิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากนายเฉลิมชัยระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนการยกเลิกใช้ มีข้อกังวลใดจึงไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังต้องการถามคำถามสำคัญ คือ คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีทั้งหมด 29 คน โดยผู้แทนของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นข้าราชการระดับอธิบดีถึง 5 คน เป็นกรรมการ ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อลงมติครั้งต่อไป นายเฉลิมชัย จะให้นโยบายผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นกรรมการว่าจะให้ออกคะแนนเสียงยกเลิกหรือไม่ เพราะหากผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ ลงคะแนนไม่ยกเลิก ทางเครือข่ายต้านสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 686 องค์กรจะได้กำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อให้ภาครัฐยกเลิกสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดนี้ให้สำเร็จ.-สำนักข่าวไทย