กรุงเทพฯ 14 ก.ย. – เมื่อวานนี้ สำนักข่าวไทยได้เปิดประเด็นผู้เสียหายถูกทวงหนี้จากค่าบริการโทรศัพท์มือถือ เมื่อไปตรวจสอบที่ศูนย์บริการพบว่ามีคนนำสำเนาบัตรประชาชนไปซื้อซิมโทรศัพท์ ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว เมื่อแจ้งขอยกเลิกและข้อมูลการใช้โทรศัพท์จากบริษัทกลับถูกปฏิเสธ ซึ่ง กสทช. ระบุ บริษัทสื่อสารห้ามปฏิเสธ ติดตามจากรายงาน
ปัญหาการนำสำเนาบัตรประชาชนที่ไม่ใช่ของตนเองไปยื่นซื้อบริการสื่อสาร ก่อนทิ้งเบอร์ไม่จ่ายค่าบริการ ปล่อยให้เจ้าของบัตรประชาชนตัวจริงต้องรับเคราะห์แทน และถูกบริษัทสื่อสารปฏิเสธให้ข้อมูล รวมถึงปฏิเสธการระงับการใช้เบอร์โทรที่ถูกสวมบัตร หรือยกเลิกเบอร์ดังกล่าวนั้น
กสทช.ในฐานะองค์กรหลักที่ดูแลด้านการสื่อสาร ชี้แจงกับสำนักข่าวไทยว่า การใช้บัตรประชาชนของคนอื่นไปยื่นซื้อซิมโทรศัพท์มือถือหรือซื้อบริการอื่นๆในบริษัทที่ให้บริการด้านสื่อสาร ทำให้เจ้าของบัตรประชาชนตัวจริงได้รับความเสียหาย น่าจะเกิดมานานไม่ต่ำกว่า 5-10 ปีแล้ว เพราะการซื้อขายในช่วงนั้นใช้เพียงสำเนาบัตรประชาชน ก็สามารถซื้อได้ อีกทั้งบัตรประชาชนที่ใช้เป็นแบบเก่าปลอมแปลงได้ง่าย เพียงแค่ใส่รูปของตนเองติดบัตรคนอื่นก่อนนำไปถ่ายเอกสารและยื่นซื้อบริการต่างๆ จากร้านค้าหรือร้านตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์หรือที่เรียกว่า ลูกตู้ก็ได้แล้ว
แต่หลังจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนมาใช้บัตรประชาชนระบบชิพการ์ด ปัญหานี้ก็หมดไป อาทิ เจ้าของเบอร์ตัวปลอม เป็นชาวต่างชาติ ได้เดินทางกลับประเทศไปแล้ว หากเป็นคนไทยก็อาจพ้นจากการบังคับคดี
ส่วนสาเหตุที่ผู้เสียหายเจ้าของบัตรประชาชนตัวจริงเพิ่งตกเป็นเหยื่อในช่วงเวลานี้ อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย คนที่คดีหมดอายุความแล้ว สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรืออาจเป็นคนพวกไม่มีเงินจ่าย ยอมทิ้งเบอร์เสีย และเปิดเบอร์ใหม่
และในกรณีที่บริษัทสื่อสารปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลหรือปฏิเสธการระงับใช้บริการนั้น กสทช.ยืนยันว่า บริษัทสื่อสารไม่มีสิทธิทำเช่นนั้นได้ แต่ต้องให้ข้อมูลทันทีหลังตรวจสอบแล้ว พบว่า หมายเลขบัตรประชาชนถูกต้อง และผู้เสียหาย คือ เจ้าของบัตรประชาชนตัวจริง ไม่จำเป็นที่ผู้เสียหายต้องไปแจ้งความแต่อย่างใด และสาเหตุที่บริษัทสื่อสารแนะนำผู้เสียหายเช่นนั้น เป็นเพราะต้องการให้แน่ใจว่า ผู้แสดงตนไม่ใช่เจ้าของเบอร์ที่แท้จริง ส่วนผู้เสียหายเองก็มีสิทธิตามกฎหมาย หากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถแจ้งความกลับดำเนินคดี บริษัทสื่อสารได้
กสทช. ยังระบุอีกว่า คดีในลักษณะนี้มีอายุความถึง 2 ปีและที่สำคัญจำนวนเงินที่ค้างจ่ายแค่หลักพันบาท หากต้องสู้กันในชั้นศาล ย่อมไม่คุ้ม บริษัทสื่อสารส่วนใหญ่จึงมักขายหนี้ส่วนนี้ให้สำนักกฎหมายไปจัดการ ดังนั้นหากได้รับจดหมายทวงหนี้จากสำนักกฎหมายให้ตรวจสอบว่า เหตุเกิดช่วงไหน และระยะเวลานานเกิน 2 ปีหรือไม่ หากเกินก็สามารถต่อสู้ได้ว่า คดีหมดอายุความแล้ว และถ้าไม่ใช่เบอร์ที่ตนซื้อมาก็แจ้งยกเลิกทันที และแจ้งความดำเนินคดีกับผู้สวมบัตรฐานปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารปลอม .- สำนักข่าวไทย