กทม. 22 ส.ค. – สำหรับกรณีอัยการเรียกสินบน ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจน หากผู้ถูกกล่าวหาผิดจริงจะมีการลงโทษทั้งทางวินัย โทษสูงสุด คือ ให้ออกจากราชการ ในส่วนของคดีอาญาอย่างน้อยๆ อาจมีความผิด 2 กระทง และโทษสูงสุด คือประหารชีวิต
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคหนึ่ง ระบุไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000-14,000 บาท
ส่วนมาตรา 201 ระบุไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท หรือประหารชีวิต
หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง จะมีความผิดตามมาตรา 157 ฐานผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนผู้ให้สินบน จะผิดตามมาตรา 144 ระบุว่า ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ. – สำนักข่าวไทย