กรุงเทพฯ 18 ส.ค.-สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เสนอ 5 ประเด็นหลักแก้ปัญหาขยะทะเลไทยในเชิงรุกอย่างครบวงจร ป้องกันการสูญเสียชีวิตของสัตว์ทะเล ไม่ให้ซ้ำรอยกรณี “พะยูนน้อยมาเรียม” ติดตามจากรายงาน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
หลังผลการตรวจพิสูจน์ ระบุหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้พะยูนน้อยมาเรียมเสียชีวิต มาจากเศษขยะพลาสติกที่เข้าไปอุดตันในลำไส้ ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศชัด “มาเรียม จะต้องไม่ตายฟรี” พร้อมชูงานวิจัยแก้ปัญหาขยะทะเลเชิงรุก ใน 5 ประเด็นหลัก ภายใต้โครงการ “ทะเลไทยไร้ขยะ” เริ่มต้นตั้งแต่ผู้ผลิตพลาสติก ต้องผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ง่ายต่อการกำจัด และการนำกลับไปใช้ใหม่ ชุมชนพื้นที่ติดทะเลทั้ง 23 จังหวัด ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ต้องรู้วิธีจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกต้อง มีกระบวนการเก็บและจัดการขยะในทะเลอย่างเป็นระบบในทุกพื้นที่ สร้างเครือข่ายการทำงานและนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ ตั้งเป้าลดขยะในทะเลให้ได้ร้อยละ10 ภายใน 1 ปี และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในปีถัดไป นำขยะพลาสติกมารีไซเคิล เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการตกค้างของไมโครพลาสติกในทะเลและสิ่งมีชีวิต
ด้านปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่าขยะพลาสติกในทะเล เป็นปัญหาใหญ่ที่เรื้อรังมานาน และยากต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จำเป็นต้องนำงานวิจัยเชิงลึกเข้ามาช่วยขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยใช้กรณีการเสียชีวิตของมาเรียมมาเป็นโมเดล
ประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่ละปีมีการปล่อยขยะลงทะเลมากถึงกว่า 1 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก หนึ่งในตัวชี้วัดที่ชัดเจน คือ การพบเต่าทะเลกว่า 100 ตัว เสียชีวิตจากการกินขยะพลาสติก ซึ่งเป็นขยะย่อยสลายยากต้องใช้เวลาอย่างน้อย 400-500 ปี.-สำนักข่าวไทย