กรุงเทพฯ 18 ส.ค. – กรมการขนส่งทางบกเตือนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพรับทำใบขับขี่โดยไม่ต้องทดสอบ เผยจับผู้แอบอ้างได้แล้ว 139 ราย แนะจองคิวผ่านแอปฯ DLT Smart Queue
นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้มีมาตรการในการป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ โดยขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมทั้งจัดผู้ตรวจการจากกองตรวจการขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยองค์การทหารผ่านศึก ร่วมกันเฝ้าระวังเหล่ามิจฉาชีพนั้น ปรากฏว่าระหว่างเดือนตุลาคม 2561-กรกฎาคม 2562 จับกุมผู้ที่เข้ามาสร้างความเดือดร้อนรำคาญกับผู้มาติดต่อราชการภายในกรมการขนส่งทางบก 139 ราย ดำเนินการออกคำสั่งผู้ตรวจการ 51 ราย, เปรียบเทียบปรับตามฐานความผิด 71 ราย และแจ้งพนักงานสอบสวน ส่งตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ 17 ราย ซึ่งดำเนินการตามกฎหมายแล้วทุกราย
ทั้งนี้ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยตรงเท่านั้น และอย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพที่รับอาสาดำเนินการแทนรับจัดทำเอกสารใบขับขี่ หรือแอบแฝงเข้ามาเร่ขายประกัน พ.ร.บ.ที่อาจประสบปัญหาความคุ้มครองตามกรมธรรม์เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นบุคคลใดมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจหรือได้รับการติดต่ออาสาดำเนินการแทน สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที หรือโทรสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง
นางจันทิรา กล่าวว่า ปัจจุบันกรมฯ พัฒนาแอปพลิเคชั่น DLT Smart Queue ครอบคลุมบริการด้านใบอนุญาตขับรถ และด้านทะเบียนและภาษีรถ ให้มีฟังชั่นการจองคิว ดูคิว และรับคิว สามารถจองคิวล่วงหน้าแบบระบุช่วงเวลา วันที่ที่สะดวก และสถานที่ที่ต้องการได้ อีกทั้งยังจองคิวล่วงหน้าได้มากกว่า 1 เดือน ซึ่งสามารถเรียกดูจำนวนผู้รอรับบริการและระยะเวลาดำเนินการของสำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกรับคิว
“การขอรับใบอนุญาตขับรถเป็นไปตามระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้อย่างชัดเจน และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยต้องผ่านการอบรมและทดสอบข้อเขียน ทดสอบขับรถด้วยตนเองทุกขั้นตอน ยกเว้นใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศสามารถมอบอำนาจได้ และไม่มีการเรียกเก็บเงินอื่นใดนอกเหนือจากค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น หากมีผู้แอบอ้างอาสาดำเนินการแทนว่าสามารถขอใบอนุญาตขับรถให้ได้โดยไม่ต้องผ่านการทดสอบ ผู้ที่หลงเชื่อนอกจากจะได้รับใบอนุญาตขับรถปลอม ไม่มีฐานข้อมูลอยู่ในระบบ และหากนำใบอนุญาตขับรถปลอมมาแสดงเป็นหลักฐานกับทางราชการอาจมีความผิดตามกฎหมายอาญาฐานใช้เอกสารปลอม อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการสูญเสียเอกสารหลักฐานส่วนบุคคลที่กลุ่มมิจฉาชีพอาจนำไปใช้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว.-สำนักข่าวไทย