กรุงเทพฯ 17 ก.ค. – ของร้อนประเดิมงานแรก!!! สร.รฟท.ยื่นขอความเป็นธรรมจากรัฐมนตรีคมนาคมใหม่ 3 ข้อ แสดงจุดยืนคัดค้านแนวทางสรรหาพนักงานใหม่ของผู้บริหารรับคนนอกร้อยละ 60 ทำลูกจ้าง นักเรียนรถไฟ ที่ตั้งใจทำงานฝันค้าง
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยว่า สร.รฟท.ขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านแนวทางการสรรหา เพื่อบรรจุพนักงานปี 2562 ของผู้บริหารที่มีมติสรรหาเพื่อบรรจุพนักงานปี 2562 จำนวน 1,330 อัตรา เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณ พร้อมกับมีการกำหนดสัดส่วนการสรรหาพนักงานจากกลุ่มบุคคลภายนอก มากถึงอัตราร้อยละ 60 กลุ่มลูกจ้างเฉพาะงานในอัตราร้อยละ 20 และกลุ่มนักเรียนโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ (วรฟ.) ในอัตราร้อยละ 20 และมีการดำเนินการขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบการรถไฟฯ ฉบับที่ 132 ว่าด้วยการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานใน รฟท.
เนื่องจาก สร.รฟท. รวมถึงพนักงาน ซึ่งมีคุณวุฒิและคุณสมบัติสามารถเติบโตขึ้นตามสายงานกว่า 8,000 คน และลูกจ้างกว่า 3,830 คน ส่วนใหญ่ทำงานแทนในตำแหน่งของพนักงานประจำที่ขาดแคลน เห็นว่าแนวทางดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ สร.รฟท.เสนอไว้ในเรื่องการขอเพิ่มอัตรากำลังพนักงานและไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างที่เสียสละอุทิศตัวทั้งแรงกาย แรงใจทำงานมาเป็นเวลานาน โดยหวังว่าเมื่อมีการอนุมัติเพิ่มกรอบอัตรากำลังจะได้รับโอกาสในการสรรหาเพื่อบรรจุเป็นพนักงานในลำดับแรก เนื่องจากทำงานมานานมีประสบการณ์และความรู้ความสามารถที่จะทำงานให้กับองค์กรได้ทันที แต่กลับเลือกที่จะคัดสรรบุคคลจากภายนอกมาก่อน
นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ที่เห็นชอบให้ รฟท.ได้รับการยกเว้นจากการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเดิม โดยให้สามารถรับพนักงานเพิ่มเฉพาะปีแรกของกรอบอัตรากำลังไม่เกิน 1,904 อัตรา อีกทั้งไม่สอดคล้องกับอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ รฟท.ปัจจุบันที่ประสบปัญหาขาดแคลนอย่างหนักหลายฝ่าย โดยมีพนักงานและลูกจ้างที่ปฏิบัติงานจริงน้อยกว่าอัตราที่ได้รับอนุมัติเกือบกึ่งหนึ่ง ได้แก่ ฝ่ายการช่างโยธาได้รับอนุมัติ 4,310 อัตรา แต่มีผู้ปฏิบัติงานจริงเพียง 2,370 อัตรา ฝ่ายการอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมได้รับอนุมัติ 727 อัตรา แต่มีผู้ปฏิบัติงานจริง 510 อัตรา ฝ่ายปฏิบัติการเดินรถได้รับอนุมัติ 5,527 อัตรา แต่มีผู้ปฏิบัติงานจริง 3;697 อัตรา ฝ่ายบริการโดยสารได้รับอนุมัติ 1,721 อัตรา แต่มีผู้ปฏิบัติงานจริง 1,132 อัตรา ฝ่ายการช่างกลได้รับอนุมัติ 6,831 อัตรา แต่มีผู้ปฏิบัติงานจริง 4,433 อัตรา
ที่สำคัญการที่ทำให้อัตราการกำลังขาดแคลนส่งผลให้พนักงานต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น ไม่มีเวลาพักผ่อนเพราะต้องทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด เป็นเหตุให้ รฟท.มีภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ค่าทำงานวันหยุด ค่าล่วงเวลา และค่าตอบแทนการทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติจำนวนมาก ซึ่งเปรียบเทียบแล้วเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าค่าจ้างพนักงานที่จะมีการรับเข้ามาบรรจุใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นการขาดแคลนอัตรากำลังยังส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทั้งความสะดวกสบาย และความปลอดภัย เช่น ขบวนรถชานเมืองบางขบวนมีพนักงานทำหน้าที่ดูแล ตรวจตั๋วโดยสารบนขบวนรถจากปกติ 3 คน เหลือเพียงขบวนละ 1 คนเท่านั้น หรือข้อมูลสถิติเหตุอันตรายของรถไฟ ทั้งขบวนรถตกราง ยานพาหนะชนกับขบวนรถ ขบวนรถเฉี่ยวชนคน ยังมีอัตราเกิดที่สูงทุกปี โดยครึ่งปีแรกของปี 2562 มีสถิติการเกิด 228 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 72 ราย และตาย 66 ศพ
ดังนั้น สร.รฟท.จึงมีจุดยืนชัดเจนเพื่อขอความเป็นธรรมจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ เพื่อให้ทราบถึงมติของผู้บริหารการรถไฟฯ และคณะกรรมการรถไฟฯ โดยเรียกร้องให้มีการดำเนินการสรรหาเพื่อบรรจุพนักงานการรถไฟฯ 3 ข้อ คือ 1.สร.รฟท.ขอยืนยันหลักการสรรหาเพื่อบรรจุเป็นพนักงานอัตรา 1,904 อัตรา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 และสอดคล้องกับแผนฟื้นฟู 2.ขอให้การรถไฟฯ ดำเนินการสรรหาพนักงานเพื่อการบรรจุใหม่ โดยการพิจารณาสรรหาจากกลุ่มลูกจ้างเฉพาะงานเป็นลำดับแรกก่อน เพราะสามารถปฏิบัติงานได้ทันที และทำงานในตำแหน่งที่ขาดอยู่แล้ว โดยการสรรหาให้ปฏิบัติตามระเบียบการรถไฟฯ ฉบับที่ 132 ว่าด้วยการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานใน รฟท. และ 3.ในส่วนของนักเรียนวิศวกรรมรถไฟที่จบการศึกษาแล้วให้ดำเนินการตามแนวทางเดิมในการบรรจุที่ผ่านมา
สร.รฟท.ต้องขอขอบคุณพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ช่วยผลักดันให้ รฟท.ได้รับอนุมัติเพิ่มกรอบอัตรากำลัง 1,904 อัตรา และหวังว่าจะมีการพิจารณาดำเนินการตามเจตนารมณ์จุดยืนตามข้อเสนอข้างต้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดย สร.รฟท.จะติดตามเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด พร้อมทั้งมีแนวทางยกระดับข้อเรียกร้องให้เพิ่มมากขึ้นต่อไปหากไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม.-สำนักข่าวไทย