สงขลา 16 ก.ค. – วันนี้จะพาไปรู้จักถุงเพาะชำที่ผลิตขึ้นจากยางพารา ครั้งแรกของโลก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ผลงานนวัตกรรมของอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่คว้ารางวัลไอเดียธุรกิจมาแล้วมากมายทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดจดสิทธิบัตรและผลิตออกจำหน่ายแล้ว
นายณัฐวี บัวแก้ว วัย 24 ปี เจ้าของผลิตภัณฑ์ถุงเพาะชำจากยางพารา กำลังทดสอบและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ถุงเพาะชำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีหลากหลาย หลังประสบความสำเร็จจากการคิดค้นโดยการนำน้ำยางข้นผสมกับสารธรรมชาติและปุ๋ยเคมีในน้ำอัตราส่วนที่เหมาะสม จนสามารถผลิตเป็นถุงเพาะชำจากยางพาราที่มีคุณสมบัติพิเศษทั้งการย่อยสลายได้ ไม่มีสารพิษตกค้างในดิน ดูดซับความชื้นได้ดี และมีสารอาหารในถุงเพาะชำ จนได้รับความสนใจจากลูกค้า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีหลายประเทศ อาทิ จีน และไต้หวัน นำไปทดลองใช้แล้ว
ณัฐวี บัวแก้ว เล่าว่า เขาเติบโตในครอบครัวชาวสวนยางพารา ทำให้รับรู้ถึงปัญหาราคายาง ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาได้เอง จึงคิดที่จะนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยเห็นว่าถุงเพาะชำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผู้ใช้จำนวนมาก ใช้หมุนเวียนรวดเร็ว ปัจจุบันมีทั้งถุงเพาะชำพลาสติก ถุงเพาะชำไบโอพลาสติก ซึ่งเมื่อเสื่อมสภาพจะกลายเป็นขยะ ยากในการจัดการ และมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม แตกต่างจากถุงเพาะชำจากยางพารา ซึ่งทดลองแล้วพบว่าช่วยให้ต้นกล้าเจริญเติบโตดีกว่า ประหยัดเงิน และเวลาในขั้นตอนการเปลี่ยนถุงปลูก สะดวกใช้งานมากขึ้น และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราหลายเท่าตัว
ปัจจุบันถุงเพาะชำจากยางพาราถูกนำมาผลิตจำหน่ายในเชิงพานิชย์แล้วหลายขนาดและราคา นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปเพิ่มมูลค่าใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น ณัฐวีหวังว่าหากหลายฝ่ายช่วยกันพัฒนานวัตกรรมยางพารา จะทำให้ประเทศไทยเป็นปประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก มาเป็นผู้แปรรูปยางรายใหญ่ของโลก และส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมั่นคง . – สำนักข่าวไทย