กระบี่ 16 ก.ค. – ผลชันสูตรซากพะยูนที่พบห่างจากเกาะไผ่ ติดเชื้อในช่องท้อง พบภายในลำไส้เกิดการอักเสบเรื้อรัง มีหนองคั่งในช่องท้อง ส่งผลภาวะหัวใจล้มเหลว
นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช รายงานผลการตรวจพิสูจน์ซากพะยูน เข้ามาว่า ได้รับแจ้งจากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.ภูเก็ต) ถึงผลการชันสูตรซากพะยูนเกยตื้น (DU439) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2562 เกยตื้นในทะเลเขตพื้นที่เกาะพีพี ห่างจากเกาะไผ่ประมาณ 20 กิโลเมตร
ผลการตรวจสอบสภาพภายนอกพบ เป็นพะยูนเพศผู้ โตเต็มวัย มีสภาพซากสด ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับปกติ มีรอยถลอกและรอยแดดไหม้ที่หลังซึ่งสามารถพบได้ในพะยูนธรรมชาติ บริเวณโคนใบพายทั้งสองข้างมีรอยแผลรัดลึกแต่แผลสมานแล้ว และพบรอยแผลจากการเกยตื้นเป็นรอยแผลถลอกข้างลำตัว ส่วนของเขี้ยวมีความสึกจากสภาพการใช้งาน
การตรวจสอบความผิดปกติของอวัยวะภายในพบว่า ภายในช่องท้องอักเสบ มีหนองคั่งในช่องท้องประมาณ 100 มล. ส่วนของลำไส้มีภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรัง และมีพังผืดพันยึดบริเวณส่วนของลำไส้เล็กและพบเนื้อตายร่วมด้วยในบริเวณดังกล่าว กระเพาะอาหารมีหญ้าทะเลที่ไม่ได้รับการย่อย มีกลิ่นเหม็น หัวใจมีภาวะล้มเหลวและม้ามติดเชื้อเรื้อรัง
สันนิษฐานการตายมาจากการเสียชีวิตจากการป่วยตามธรรมชาติ จากภาวการณ์ติดเชื้อในช่องท้องและภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรัง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างผิวหนัง เพื่อนำไปตรวจทางพันธุกรรม และเก็บตัวอย่างอาหารในกระเพาะอาหารเพื่อตรวจสอบชนิดของหญ้าทะเลต่อไป
ขณะที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประชุมติดตามสถานการณ์การตายของพะยูนในพื้นที่ฝั่งอันดามัน หลังพบพะยูนเกยตื้น สถานการณ์ดังกล่าวทางสำนักพระราชวังมีความเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพะยูนเป็นสัตว์ทะเลที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์
นายจตุพร กล่าวว่า จากสถานการณ์การตายและลอยเกยตื้นของพะยูนในพื้นที่ฝั่งอันดามันต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ปัจจุบันประชากรพะยูนมีอยู่กว่า 200 ตัว ถือเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างยิ่ง โดยในห้วงเวลา 3 เดือน พบซากพะยูนเกยตื้นจำนวน 7 ตัว ตาย 5 ตัว และรอดชีวิต 2 ตัว คือ มาเรียม และยามีล ซึ่งอยู่ระหว่างการอนุบาล
จากการติดตามสถานการณ์พบว่าพะยูนส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการตายผิดธรรมชาติ การติดเชื้อ และติดเครื่องมือประมง ซึ่งจะต้องมีมาตรการป้องกันเฝ้าระวังในระยะสั้น และในระยะยาว รวมถึงกำหนดพื้นที่แหล่งอาศัยของพะยูน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด การกำหนดมาตรการในการตรวจตรา โดยกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ 4 อำเภอ คือ อ.เมือง เหนือคลอง คลองท่อม และเกาะลันตา ซึ่งต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีข่าวว่ามีการล่าพะยูนเพื่อเอาเขี้ยวมาทำเครื่องรางของขลัง ยืนยันไม่เป็นความจริง เพราะจากผลการชันสูตรพบว่า การตัดเขี้ยวพะยูนเกิดขึ้นหลังจากที่พะยูนตายแล้ว ส่วนใหญ่จะเอาไปทำเป็นเครื่องประดับเท่านั้น หลังจากนี้จะมีมาตรการในการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น. – สำนักข่าวไทย