กทม. 12 ก.ค.-แม้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ขณะนี้กำลังเจอกับภาวะฝนทิ้งช่วง เพราะปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เขื่อนใหญ่ 14 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่าง ขณะเดียวกันคาดว่าฤดูแล้งปีหน้า จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาต้องใช้น้ำกว่า 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้ 4 เขื่อนหลัก มีน้ำเก็บกักรวม 1,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ทำให้ต้องปรับแผนการบริหารน้ำ
นี่เป็นแผนภาพแสดงภาพรวมปริมาณน้ำฝนสะสมตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. พบว่าตลอด 6 เดือนมานี้ ทั่วไทยมีปริมาณฝนสะสมเพียง 410 มิลลิเมตร น้อยกว่าปริมาณค่าเฉลี่ย 30 ปี กว่า 100 มิลลิเมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ที่ภาพปรากฏเป็นพื้นที่สีแดง บ่งบอกว่าตั้งแต่ต้นปี พื้นที่เหล่านี้มีค่าปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ 200-300 มิลลิเมตร
ผอ.สสน. ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ปีนี้ปริมาณฝนสะสมน้อย แม้จะเข้าสู่หน้าฝนแล้ว เพราะปีนี้ไทยเจอกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนตกน้อยเป็นช่วงๆ ส่งผลให้น้ำไหลเข้าเขื่อนได้น้อยลง หรือไม่ไหลเลย ปัจจุบันทั่วไทยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ในจำนวนนี้ 14 แห่ง พบมีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่าง และเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน นอกจากนี้ยังพบเขื่อนขนาดกลางทั่วไทย 135 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างเช่นกัน
สสน. ยังเปรียบเทียบปริมาณน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ต้นปีนี้กับปี 58 ซึ่งเป็นปีน้ำแล้ง พบว่าเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้ำบำรุงแดน มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมน้อยใกล้เคียงปี 58 โดยเฉพาะเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ตั้งแต่ต้นปีมีน้ำไหลสะสมเข้าเขื่อนเพียง 1 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
ยังมีการประมาณการว่าในฤดูแล้งต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนของปีหน้า จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาต้องการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค การเกษตรและระบบนิเวศ กว่า 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันทั้ง 4 เขื่อนหลัก มีน้ำใช้การได้เพียง 1,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร นั่นหมายความว่าอีก 3 เดือน ก่อนจะหมดฤดูฝน ต้องกักน้ำเพิ่มอีกกว่า 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และหากฝนไม่ตก และการกักเก็บน้ำไม่เป็นไปตามเป้า จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีความเสี่ยงขาดน้ำ
ขณะเดียวกันสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ยังพบพื้นที่นอกเขตชลประทานที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำกว่า 21 จังหวัด เพราะประสบปัญหาเดียวกัน คือภาวะฝนทิ้งช่วง จึงต้องวางแผนปรับการจัดสรรน้ำใหม่จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนนี้ รวมถึงคาดการณ์แผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้งหน้าด้วย
มีการคาดการณ์ฝนในเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องกันยายนนี้ มีแนวโน้มคล้ายกับฝนในช่วงปี 50 ซึ่งในบางพื้นที่จะมีฝนตกน้อยกว่าปกติ และในบางพื้นที่จะกลับมามีฝนเพิ่มมากขึ้น สลับกันไป แต่ภาพรวมก็คาดว่าจะมีฝนน้อยลง และน้อยกว่าค่าปกติ โดยในช่วง 3 เดือน ก่อนที่จะสิ้นฤดูฝน นอกจากความพยายามในการทำฝนเทียม เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนแล้ว ยังต้องรอพายุที่อาจจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยให้ฝนตก และกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อใช้บริหารจัดการในหน้าแล้งปีหน้า.-สำนักข่าวไทย