กรุงเทพฯ 2 ก.ค. – บีทีเอสแจงอุปกรณ์คันโยกฉุกเฉินมีไว้ใช้ยามจำเป็น ขอความร่วมมือผู้โดยสารใช้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเท่านั้น
นายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีผู้โดยสารดึงคันโยกฉุกเฉิน (PER – Passenger Emergency Release) หรือพีอีอาร์ประมาณเที่ยงวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า ทุกครั้งที่ดึง PER จะกระทบต่อการเดินรถ เพราะเจ้าหน้าที่ควบคุมรถจะต้องใช้เวลารีเซ็ตขบวนรถทุกครั้ง ขบวนที่ตามหลังมาก็ต้องจอดคอยต่อ ๆ กัน เพื่อรักษาระยะห่างให้ปลอดภัยเสมอ แต่เกิดความล่าช้าสะสมได้ กระทบผู้โดยสารอื่น จึงมีข้อกำหนดให้มีโทษปรับหากใช้โดยไม่จำเป็น
สำหรับ PER มีไว้ใช้เปิดประตูขบวนรถเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในขณะที่รถจอดสนิท ติดตั้งบริเวณด้านข้างประตูทุกประตู และทุกขบวนรถ พร้อมติดสติกเกอร์ที่มีคำแนะนำการใช้งานคาดไว้ทุกชิ้น ตัวอย่างการใช้ PER เช่น ขบวนรถไฟฟ้าจอดสนิทที่สถานี แต่ผู้โดยสารที่อยู่ในขบวนรถพบผู้โดยสารอื่นขาตกในช่องว่างระหว่างชานชาลาก็สามารถดึง PER เพื่อไม่ให้รถเคลื่อนที่ได้ กรณีที่พบบ่อย คือ มีผู้เป็นลมในขบวนรถ ผู้โดยสารจึงดึง PER ทำให้ขบวนรถต้องหยุดนานกว่าปกติที่สถานีถัดไปโดยไม่จำเป็น หากพบผู้เป็นลม หรือป่วย หรือต้องการความช่วยเหลือขณะที่อยู่ในขบวนรถ โปรดกดปุ่มกระดิ่งแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที เจ้าหน้าที่จะประสานสถานีถัดไปให้เตรียมการช่วยเหลือทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาจอดนาน เพื่อรีเซ็ตขบวนรถ สำหรับปุ่มกระดิ่งอยู่บริเวณเดียวกับ PER ทุกตู้โดยสาร
ทั้งนี้ ระบบการเดินรถของบีทีเอสยึดหลัก fail – safe คือ หากตรวจพบความผิดปกติใดก็ตามในการเดินรถ ไม่ว่าจะเป็นขบวนรถ ระบบอาณัติสัญญาณ หรือราง คอมพิวเตอร์ควบคุมการเดินรถ จะสั่งให้ขบวนรถหยุดไว้ก่อนเสมอ นี่คือที่มาของเสียงประกาศจัดการจราจรในขบวนรถ แต่ช่วยให้การเดินรถตลอด 20 ปีที่ผ่านมามีความปลอดภัยและไม่เคยเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ทั้งนี้ ผู้โดยสารต้องการสื่อสารกับพนักงานขับรถสามารถกดปุ่มที่ระบุไว้ว่ามีเพื่อติดต่อสื่อสารกับพนักงาน โดยอย่าดึงคันโยกที่มีไว้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเท่านั้น การไปดึงจะทำให้เสียเวลาการเดินรถจอดที่ต้องมารีเซ็ทระบบเปิดปิดประตูใหม่.-สำนักข่าวไทย