ตรัง 22 มิ.ย.- เจ้าหน้าที่เตรียมปรับแผนให้นมมาเรียมเพิ่มขึ้นในเวลากลางคืน หลังพบมาเรียมหิวนมจัดขณะเกยตื้นจนต้องเอาครีบทั้ง 2 ข้างของตัวเองเข้าปากแล้วดูดส่งเสียงดัง แม้ขณะนี้เชื่อว่าอาจจะเริ่มเล็มหญ้าทะเลได้ด้วยตัวเองบ้างแล้ว เพราะหายไปจากการดูแลของเจ้าหน้าที่นานประมาณ 7 ชม. แต่ฟันยังเพิ่งเริ่มโผล่ยังกินหญ้าทะเลไม่ถนัด
นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รายงานผลการปฏิบัติงานดูแลอนุบาลมาเรียม พะยูนน้อย เพศเมีย อายุ 6 เดือน ร่วมกันของเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ร่วมกับสัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และจิตอาสาทีมพิทักษ์ดุหยง บริเวณหน้าเขาบาตู หมู่ 4 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง แหล่งอนุบาลมาเรียม โดยระบุว่าเมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) ตั้งแต่เวลาประมาณ 07.30 น. มาเรียมซึ่งเริ่มดำน้ำเล็มหญ้าเป็นบ้างแล้ว แต่ฟันเพิ่งเริ่มโผล่ยังเคี้ยวกินหญ้าได้ไม่ถนัด ได้หายไปจากการดูแลของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากน้ำทะเลขุ่น จึงได้ร่วมกันติดตามหามาเรียมจนถึงเวลา 14.30 น. หรือผ่านไปประมาณ 7 ชม.ก็พบมาเรียมอยู่บริเวณข้างเขาบาตู ในสภาพหิวนมจัด จึงได้รีบนำตัวมาป้อนนม จำนวน 1,750 มิลลิลิตร ในช่วงน้ำลด ยังพาน้องมาเรียมฝึกกินหญ้าทะเลต่อไป และได้ชั่งน้ำหนัก พบว่ามาเรียมมีน้ำหนักลดลงเหลือประมาณ 28 กิโลกรัม จากเดิมหนัก 29.20 กิโลกรัม ความยาวยังเท่าเดิม 120 เซนติเมตร รอบลำตัวเพิ่มขึ้นเป็น 76 เซนติเมตร จาก 74 เซนติเมตร โดยรวมสุขภาพมาเรียมแข็งแรงดี แต่น้ำหนักยังต่ำกว่าเกณฑ์ของพะยูนขนาดอายุเท่านั้นจะต้องหนักประมาณ 50 กิโลกรัม หรือยาวประมาณ 140 – 150 เซนติเมตร
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมส่งทีมสัตวแพทย์ลงมาเสริม เพื่อร่วมกับทีมสัตวแพทย์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการเพิ่มเวลาการให้นมมาเรียมเพิ่มขึ้นในเวลากลางคืน หลังพบว่ามาเรียมน้ำหนักตัวยังน้อย และเห็นสภาพมาเรียมเอาครีบทั้ง 2 ข้างของตัวเองเข้าปากตัวเอง แล้วดูดครีบจนส่งเสียงดังน่าสงสาร เนื่องจากอยู่ในสภาพหิวนมจัดเหมือนเด็กเล็ก ที่ต้องกินนมจากอกแม่ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะความจำเป็นในการใช้บ่ออนุบาลชั่วคราวในช่วงเวลากลางคืน และช่วงมรสุมใหญ่ที่อาจเกิดติดต่อกันครั้งละหลายวัน ป้องกันอันตรายจากมรสุมและคลื่นลมแรงซัดมาเรียมออกไปจากบริเวณพื้นที่อนุบาล อาจทำให้หามาเรียมไม่พบเกิดอันตราย และอันตรายที่อาจจะเกิดกับเจ้าหน้าที่ คาดทางกรมอุทยานฯ จะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า.-สำนักข่าวไทย