กรุงเทพฯ 19 ส.ค.- ม.หอการค้าไทยแถลงผลการวิจัยหัวข้อ “พฤติกรรมการรับข่าวสารและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสื่อมวลชน” โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการวิจัยโดยการเก็บแบบสอบถาม ช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 800 คน
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจในด้านพฤติกรรมการรับข่าวสารของประชาชน ช่วงอายุของผู้ตอบแบบสอบถาม แบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ เจนเนอเรชั่น Y อายุระหว่าง 19-36 ปี 65.1% เจเนอเรชั่น X อายุระหว่าง 37-51 ปี 21% เบบี้บูมเมอร์ อายุระหว่าง 52-70 ปี 7.5% และ เจเนอเรชั่น Z อายุระหว่าง 12-18 ปี 6.4%ประชาชน 32.6% ใช้เวลาในการรับชมข่าวสารโดยเฉลี่ยต่อวัน 1-2 ชม. รองลงมา 24.1% ใช้เวลาในการรับชมข่าวสารโดยเฉลี่ยต่อวัน 2-3 ชม. โดยข่าวสารที่ชมบ่อยสุดคือข่าวบันเทิง 54.4% รองลงมาคือข่าวเหตุการณ์สำคัญ 52.3% ข่าวกีฬา 37% ข่าวการเมือง 34.9% และข่าวอาชญากรรม 32.8% ในส่วนช่องทางในการรับข่าวสารนั้น ประชาชนรับข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ บ่อยที่สุดคิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 4.13 (จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) รองลงมาคือดูโทรทัศน์ คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.81 และเว็บไซต์หรือแอพลิเคชั่นข่าว คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.15
สำหรับพฤติกรรมการรับข่าวสารผ่านทางออนไลน์ ของประชาชนส่วนใหญ่จะอ่านข่าวผ่านอุปกรณ์มือถือ คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 4.35 (จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) ซึ่งบ่อยกว่าอ่านจากคอมพิวเตอร์ คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.12 โดยประชาชนเลือกอ่านข่าวที่แชร์มาจากคนใกล้ชิดบ่อยที่สุด คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.53 (จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) รองลงมาคืออ่านข่าวจากสื่อที่เป็นสำนักข่าวอย่างเป็นทางการ คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.33 และสื่อที่เป็นสำนักข่าวอย่างไม่เป็นทางการคิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.28 โดยพฤติกรรมของประชาชน เมื่อเห็นข่าวแล้วจะคลิกไปอ่านยังแหล่งที่มาของข่าวมากที่สุด คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.33 รองลงมาคือกด Like คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 3.03
จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมการในการรับข่าวสารได้ให้ความสำคัญกับการรับข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียมากที่สุด อีกทั้งยังมีพฤติกรรมในการรับข่าวสารที่ถูกบอกต่อ หรือแชร์มาจากคนใกล้ชิดบ่อยกว่าดูข่าวตรงจากสำนักข่าวที่เป็นทางการ และการรับข่าวสารจากสำนักข่าวที่ไม่เป็นทางการบ่อยพอๆ กับสำนักข่าวที่เป็นทางการ จึงเป็นประเด็นที่สำนักข่าวออนไลน์ในฐานะสื่อมวลชนมืออาชีพ ควรจะนำมาพัฒนาวิธีการ รูปแบบ หรือเนื้อหา ของข่าวสาร ที่สร้างความแตกต่างความน่าสนใจ ที่โดดเด่นกว่าข้อมูลข่าวสารทั่วไปที่มีอยู่ในโลกออนไลน์ เพื่อจูงใจให้ประชาชนให้ความสนใจเสพรับข่าวสารจากสำนักข่าวที่เป็นทางการมากขึ้น
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจ โดยแบ่งกลุ่มประชาชนตามช่วงอายุ ออกเป็น 4 กลุ่ม ตามเจเนอเรชั่น ได้แก่ เบบี้บูมเมอร์ เจเนอเรชั่น X เจนเนอเรชั่น Y และเจเนอเรชั่น Z เพื่อหาลักษณะสำคัญในการรับข้อมูลข่าวสารและความเชื่อมั่นที่มีต่อสื่อมวลชน ได้ผลดังนี้
กลุ่มเบเบี้บูมเมอร์ อายุระหว่าง 52-70 ปี มีพฤติกรรมในการรับข่าวสารคือ “ไม่เชื่อ = ไม่เสพ” รับข่าวสารจากแหล่งที่ตนเองให้ความเชื่อถือ “ชอบสื่อดั้งเดิม เพิ่มเติมคือสื่อใหม่” กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ มีการรับข่าวสารทางโทรทัศน์บ่อยที่สุด รองลงมาคือหนังสือพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และวิทยุ ข่าวที่กลุ่มเบเบี้บูมเมอร์รับชมมากที่สุด 65% คือ ข่าวการเมือง รองลงมาคือข่าวเหตุการณ์สำคัญ 60% และข่าวอาชญากรรม 50% ช่วงเวลาที่รับชมรายการข่าวทางโทรทัศน์มากที่สุดคือ 10.30 น. – 15.30 น.
เจเนอเรชั่น X อายุระหว่าง 37-51 ปี มีพฤติกรรมในการรับข่าวสารคือ FOMO (Fear of Missing Out) คนกลุ่มนี้กลัวตกข่าว จึงรับข่าวสารทางออนไลน์ผ่านสำนักข่าวที่เป็นทางการและคนใกล้ชิดมากขึ้น ติดตามข่าวทางสื่อใหม่ เพื่อให้ทันกระแสสังคมแต่ไม่ได้ให้ความเชื่อถือ โดย 71% ของคนกลุ่มนี้ เชื่อว่าการนำเสนอข่าวด้านการเมืองและประเด็นสำคัญของสังคมจากสื่อโทรทัศน์เป็นการนำเสนอข้อมูลในหลายด้าน ช่วงเวลาที่รับชมข่าวทางโทรทัศน์มากที่สุดคือช่วงเวลา 10.30 น.-15.30 น.
เจนเนอเรชั่น Y อายุระหว่าง 19-36 ปี “ใช้สื่อใหม่ ไว้ใจสื่อดั้งเดิม” กลุ่มนี้รับข่าวสารผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียบ่อยที่สุด รองลงมาคือสื่อโทรทัศน์ เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นข่าว หนังสือพิมพ์ และวิทยุ แม้จะรับข่าวสารทางสื่อใหม่มากแต่คนนี้ให้ความเชื่อถือในสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ มากกว่าข่าวสารจากสื่อใหม่ แต่มีแนวโน้มที่จะเชื่อถือในสื่อใหม่มากขึ้นประเภทข่าวที่เจนเนอเรชั่น Y รับชมได้แก่ ข่าวบันเทิง 57.2% ข่าวเหตุการณ์สำคัญ 51.6% และข่าวกีฬา 37.2%
เจเนอเรชั่น Z อายุระหว่าง 12-18 ปี “ติดสื่อใหม่ ไว้ใจสื่อดั้งเดิม” เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมในการรับข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คบ่อยที่สุด มากกว่าเจนเนอเรชั่นอื่นๆ รองลงมาคือสื่อโทรทัศน์ สื่อเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นข่าว หนังสือพิมพ์ และวิทยุ เจเนอเรชั่น Z ยังคงให้ความเชื่อถือในสื่อโทรทัศน์มาก ต่างกับสื่ออื่นทั้งหมดที่เชื่อถือแค่ในระดับปานกลาง จะเห็นได้ว่า เจเนอเรชั่น Z มีความคิดเห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชี่ยวมีเดียจะนำเสนอข่าวด้านการเมืองและประเด็นสำคัญทางสังคมหลายด้าน .-สำนักข่าวไทย