ทำเนียบฯ 28 พ.ค. – ครม.เห็นชอบ CPH สร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน วงเงินลงทุนเอกชน 117,226 ล้านบาท สัญญาสัมปทาน 50 ปี รฟท.ส่งเงินร่วมลงทุนให้เอกชนสร้าง 149,650 ล้านบาท ลงนามสัญญากลางเดือน มิ.ย.
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติและเห็นชอบ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ เพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผู้ชนะการประมูลเส้นทางสนามดอนเมือง- สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา มูลค่าการลงทุนในส่วนภาคเอกชน 117,226 ล้านบาท นับว่าต่ำกว่า ครม.อนุมัติกรอบลงทุนไว้ 2,198 ล้านบาท ในวงเงิน 119,425 ล้านบาท ในส่วนการร่วมลงทุนของ รฟท. 149,650 ล้านบาท จะนำส่งให้ภาคเอกชน CPH สำหรับก่อสร้างรายปี 14,965 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี ทำให้วงเงินลงทุนทั้งโครงการจาก รฟท. และเอกชน รวม 224,500 ล้านบาท
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมื่อ ครม.เห็นชอบสัญญาการร่วมลงทุนระหว่าง รฟท. กับกลุ่ม CPH เตรียมลงนามสัญญาวันที่ 15 มิถุนายนนี้ตามแผน มั่นใจว่าการก่อสร้างโครงการจะเสร็จ และเปิดให้บริการปี 2567 โดยภาคเอกชนเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงในการบริหารโครงการในการจัดเก็บค่าโดยสาร ตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี ทำให้มูลค่าโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้านบาท โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ โดย ครม.ให้รับข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดอย่างเคร่งครัด เช่น การส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเข้าดำเนินก่อสร้างโครงการ โดยไม่ทำให้ รฟท.ผิดสัญญา กำหนดให้มีหน่วยงานติดตาม กำกับ และบริหารสัญญาร่วมลงทุนอย่างใกล้ชิดตลอดอายุโครงการ
นายณัฐพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น -มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – นครพนม วงเงินลงทุน 66,848 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี (ปี 61-68) รัฐบาลก่อสร้างเองทั้งหมด โดยสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้ รฟท. ก่อสร้างก่อน 10,255 ล้านบาท จากนั้นกระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ให้ รฟท.ในส่วนที่เหลืออยู่ โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนารถไฟสายใหม่เชื่อมการคมนาคมขนส่งแนวตะวันออก-ตะวันตก ( Est-West Corridor) จาก อ.แม่สอด จ.ตาก -พิษณุโลก -เพชรบูรณ์ -ขอนแก่น -ร้อยเอ็ด -มุกดาหาร ขนาดราง 1 เมตร ระยะทาง 355 กิโลเมตร เกิดสถานีใหม่ 30 สถานี ผ่านพื้นที่ 6 จังหวัด รองรับผู้โดยสาร 3.83 ล้านคนในปี 2569 ปริมาณขนส่งตู้สินค้า 748,453 ตัน มีผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 13.49 .-สำนักข่าวไทย