กรุงเทพฯ 17 พ.ค. – ปตท.สผ.เปิดตัวบริษัท เอไอ แอนด์โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด พร้อมตั้งเป้าสู่การเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใน 3-5 ปี
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมแสดงความยินดีการเปิดตัวบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ที่มุ่งทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ และร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า เออาร์วี เป็นการเดินหน้ายุทธศาสตร์การลงทุนในธุรกิจใหม่ของ ปตท.สผ. เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยต่อยอดจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้สนับสนุนกิจกรรมการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับ ปตท.สผ. เออาร์วี ยังสามารถยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากด้านพลังงาน ระยะแรกปี 2562-2564 เออาร์วี จะลงทุนประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในระยะเวลา 3-5 ปี
นายธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไปเออาร์วี กล่าวว่า เออาร์วี มีเป้าหมายระยะยาวในการเป็นแพลทฟอร์มเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งจากภาคการศึกษา อุตสาหกรรม รวมถึงสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจยุคนี้และในอนาคต หนึ่งในเทคโนโลยีล่าสุดที่เป็นผลจากความร่วมมือของเออาร์วี และพันธมิตรจากประเทศนอร์เวย์ คือ หุ่นยนต์ซ่อมบำรุงใต้น้ำตัวแรกของโลกที่สามารถตรวจสอบและซ่อมท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำได้ โดยอาศัยการควบคุมจากระยะไกล ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในงานซ่อมแซมได้กว่าครึ่งจากการทำงานรูปแบบเดิม และลดความเสี่ยงของทรัพยากรบุคคล
นอกจากนี้ เออาร์วี ยังให้บริการและอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ สำหรับการปฏิบัติงานทั้งบนบก ในทะเลและทางอากาศ เช่น หุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย สำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ใต้น้ำได้โดยอัตโนมัติ เช่น ตรวจสอบท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำและโครงสร้างของแท่นผลิตปิโตรเลียมใต้ทะเล เพื่อป้องกันการชำรุด โดยไม่ต้องอาศัยเรือสนับสนุนหรือเจ้าหน้าที่บังคับ หุ่นยนต์ตรวจสอบภายในท่อ เพื่อใช้สำรวจสภาพภายในท่อปิโตรเลียมที่มีพื้นที่จำกัด สามารถประมวลผลเป็นภาพ 3 มิติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพาของการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ และอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน สำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ในที่สูง ถ่ายภาพทางอากาศ และยังสามารถใช้บินสำรวจพื้นที่เกษตรกรรม ช่วยวิเคราะห์พืชผลเพื่อเพิ่มผลผลิต.-สำนักข่าวไทย