กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกครวญถูกขโมยตัด สูญเสียรายได้ เกษตรจังหวัดตราดระบุการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่สามารถส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพ ลดปัญหาทุเรียนอ่อน ชี้อนาคตทุเรียนยังเปิดกว้าง หากระบบขนส่งมีประสิทธิภาพดีขึ้น
เกษตรกรหลายรายในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราดหลายรายร้องเรียนมายังเกษตรจังหวัดว่าถูกขโมยทุเรียนจากต้นที่กำลังจะตัดขายได้ นายมงคล จอมพันธ์ เกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า ได้รับแจ้งว่าสวนทุเรียนแห่งหนึ่งตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด มีขโมยลักลอบตัดทุเรียนประมาณ 60 – 80 ผล น้ำหนัก 600 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 60,000 บาท เจ้าของสวนแจ้งความดำเนินคดีแล้วให้รางวัลผู้ให้เบาะแส 10,000 บาท เชื่อว่าเป็นคนในพื้นที่ ทั้งนี้ จังหวัดจันทบุรีและระยองพบปัญหาเดียวกันหลายราย แต่ลักลอบตัดครั้งละ 20 – 30 ผล เชื่อว่าขโมยต้องคุ้นเคยกับเจ้าของสวน เนื่องจากเจ้าของเลี้ยงสุนัขเฝ้าทุกสวน หากเป็นคนแปลกหน้า ต้องถูกสุนัขกัด ดังนั้น จึงอาจเป็นลูกจ้างหรือชาวสวนด้วยกันในพื้นที่
นายมงคล กล่าวว่า ปีนี้ราคาทุเรียนสูงกว่าปีที่แล้ว โดยราคาพันธุ์หมอนทองเหมาสวนจากกิโลกรัมละ 80 บาท เป็น 120 บาท เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากจีนเพิ่มขึ้นเฉพาะนครเซี่ยงไฮ้สั่งถึง 20 ล้านผล ซึ่งผลผลิตในจังหวัดตราดไม่พอส่ง ผู้นำเข้าจีนจึงติดต่อทำ MOU กับกลุ่มเกษตรกรจันทบุรี ส่วนเมืองอื่น ๆ เพิ่มปริมาณนำเข้าสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (อียู) และสแกนดิเนเวียนนิยมบริโภคทุเรียนมากขึ้น ดังนั้นอนาคตของทุเรียนไทยยังเปิดกว้าง แต่จำเป็นต้องปรับปรุงระบบขนส่ง (โลจิสติกส์) ให้ดีขึ้น เช่น ขณะนี้ส่งออกผ่านชายแดนเวียดนามและนครพนม แต่เส้นทางไม่ดีใช้เวลาขนส่งหลายวัน
นายมงคล กล่าวว่า ขณะนี้ชาวจีนตั้งล้งรับซื้อทั่วทั้งภาค โดยเหมาสวนตัดผลคราวเดียว จากนั้นคัดแยกเกรด A ส่งไปจีน ส่วนลูกไม่สวยไม่แก่จัดจะขายต่อให้พ่อค้าแม่ค้าไทย จึงมีปัญหาร้องเรียนจากผู้บริโภคชาวไทยที่ซื้อทุเรียนไปแล้วยังอ่อน ล่าสุดเกาะช้างมีสวนที่เจ้าของไม่ได้ดูแลเอง มีผู้เหมาสวน ตัดขายให้พ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ปรากฏว่า เป็นทุเรียนไม่ได้คุณภาพ ขาดการดูแล ทำให้เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำและตัดขณะอ่อน มูลค่า 80,000 บาท ซึ่งเกษตรจังหวัดเจรจาให้ชดเชยแก่ผู้ซื้อ หากไม่คืนเงินจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฐานหลอกลวง
นายมงคล กล่าวว่า จังหวัดตราดมีแปลงใหญ่ทุเรียน 8 แปลง ทำตามนโยบายของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้เข้าไปควบคุมการผลิตให้เป็นแบบประณีต เพื่อให้ได้ทุเรียนคุณภาพ เช่นเดียวกับสหกรณ์ชาวสวนทุเรียน โดยแนะนำให้ติด QR Code เพื่อตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามาจากสวนไหน หากพบทุเรียนอ่อนสามารถเปลี่ยนลูกใหม่หรือรับเงินคืนได้ ปัญหาอีกประการ คือ หลายสวนที่ทำ MOU ขายโมเดิร์นเทรดในประเทศ แต่เมื่อล้งจีนให้ราคาสูงกว่าก็ตัดขายให้ จึงไม่มีผลผลิตส่งตลาดในประเทศตามข้อตกลง เนื่องจาก MOU ไม่มีผลทางกฎหมาย หากนำ พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 มาใช้ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีเกษตรฯ จะแก้ปัญหาการตัดทุเรียนก่อนกำหนดและส่งผลผลิตได้ตามที่ทำสัญญากันไว้จะสามารถควบคุมการผลิตทุเรียนให้เป็นแบบประณีตและได้คุณภาพมากขึ้น รวมถึงสามารถขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศได้กว้างขวาง สำหรับทุเรียนตราดที่ส่งไปมณฑลยูนนาน เมื่อพ่อค้าชาวจีนแกะผลขายได้พูลละประมาณ 500 บาท นอกจากนี้ ยังได้รับงบประมาณพัฒนาจังหวัดในการแปรรูปด้วยวิธีแช่แข็ง ทำให้สามารถขยายฐานผู้บริโภค หากไม่ต้องการซื้อทั้งผลเนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีราคาสูง.-สำนักข่าวไทย