สมุทรสาคร 6 พ.ค.-กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำบูมดักขยะติดตั้งบริเวณปากแม่น้ำ 10 จุดทั่วประเทศ เพื่อจัดการกับขยะในทะเล ข้อมูลปีที่แล้วพบขยะไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา มากที่สุดกว่า 1 พันตัน
ทุกสัปดาห์ชาวบ้านกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล จังหวัดสมุทรสาคร จะทำหน้าที่เก็บขยะบริเวณบูมดักขยะ ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือ ทช. ทดลองนำมาติดตั้งไว้บริเวณคลองพิทยาลงกรณ์ ซึ่งเชื่อมกับแม่น้ำท่าจีน
บูมดักขยะที่เห็นอยู่นี้เป็นแบบทุ่นสี่เหลี่ยม มีตะแกรงเปิดปิดทั้ง 2 ด้าน ตามกระแสน้ำขึ้นและลง ขยะส่วนใหญ่ที่ลอยมาติดบูมดักขยะ มักเป็นถุงพลาสติก และขวดน้ำ แต่ละรอบของการเก็บขยะ จะมีปริมาณรวมกันกว่า 50 กิโลกรัม โดยบูมดักขยะจะทำหน้าที่ดักจับขยะที่ลอยบนผิวน้ำ ไม่ให้ไหลลงไปสะสมในทะเล โดยขยะที่เห็นอยู่ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมบนบก
แม้คลองพิทยาลงกรณ์จะเป็น 1 ใน 4 จุด ที่มีการติดตั้งบูมดักขยะ แต่ยังพบว่า ตั้งแต่ต้นคลองถึงปากอ่าวแม่น้ำท่าจีน ตลอด 3 กิโลเมตร ยังมีขยะที่ถูกทิ้งจากบนบกติดอยู่ตามริมคลองและต้นไม้ ขณะที่ส่วนหนึ่งลอยอยู่บริเวณผิวน้ำ และกำลังไหลตามน้ำไปยังฝั่งแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็นทางออกสู่ทะเล โดยเพียง 1 วัน ขยะเหล่านี้ก็จะลอยไปสะสมอยู่ในทะเล
ปีที่แล้ว ทช. เริ่มนำบูมดักขยะมาติดตั้งนำร่องบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา และปากแม่น้ำท่าจีน โดยจากการเก็บข้อมูล พบขยะเฉลี่ยวันละ 1,800 ชิ้น หรือคิดเป็นน้ำหนัก 57 กิโลกรัม ส่วนในปีนี้วางเพิ่มอีกใน 10 จุดทั่วประเทศ เช่น ปากน้ำระยอง ปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำคุระบุรี และปากแม่น้ำบารา เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือจัดการขยะ ก่อนจะไหลลงไปในทะเล
ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ระบุว่า บูมดักขยะมีความสามารถดักขยะที่ลอยมากับน้ำเพียง 10% ของความกว้างปากแม่น้ำเท่านั้น เพราะยังมีข้อจำกัด เช่น ปัจจัยการขึ้นลงของน้ำ ทำให้ระยะสั้นอาจยังไม่เห็นผลว่าขยะจะลดลง แต่ในระยะยาวขยะที่เก็บได้ จะถูกนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลในอนาคต ซึ่งจะระบุถึงพฤติกรรมการจัดการขยะจากต้นทาง เพื่อปรับพฤติกรรมของคนไม่ให้ทิ้งขยะลงน้ำ
เมื่อปีที่แล้ว ทช.ศึกษาและเก็บข้อมูลปริมาณขยะที่ลอยบริเวณปากแม่น้ำ พบ 5 อันดับปากแม่น้ำที่มีขยะไหลลงทะเลมากที่สุด คือ แม่น้ำเจ้าพระยา พบกว่าหนึ่งพันตัน รองลงมาเป็นแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำบางตะบูน รวมทั้งหมดกว่าสองพันตัน โดยขยะส่วนใหญ่ที่พบเป็นพลาสติกบาง พลาสติกแข็ง และโฟม ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายไปเองได้ และมักสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสัตว์ทะเลหายาก เช่น วาฬ และเต่าทะเลที่คิดว่าขยะเหล่านี้เป็นอาหาร แล้วกินเข้าไปจนขยะไปอุดตันในกระเพาะอาหาร ก่อนจะติดเชื้อ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร.-สำนักข่าวไทย