กทม. 29 เม.ย. – แม้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่ากรรมการการเลือกตั้งจะเลือกใช้สูตรใดในการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แต่เบื้องต้นได้นำสูตรต่างๆ มาเทียบเคียงจำนวน 3 สูตร และพอเห็นทิศทางว่าจะใช้สูตรคำนวณแบบใด
ภายในสัปดาห์นี้ คาดว่า กกต.จะพิจารณาสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่นำมาศึกษา 3 สูตร ว่าจะใช้สูตรใด ซึ่งทั้ง 3 สูตร มีผลลัพธ์แตกต่างกันตรงที่นั่ง ส.ส.
สูตรตั้งต้น เริ่มเหมือนกันที่นำคะแนนจากบัตรดีของทุกพรรคที่ส่ง ส.ส.บัญรายชื่อ มาหารด้วย 500 จะได้เท่ากับค่าเฉลี่ยของ ส.ส. 1 ที่นั่ง ซึ่งจากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ จะอยู่ที่ 71,057 คแนน จากนั้นนำไปหารคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ จะได้เท่ากับที่นั่ง ส.ส.ที่พึงได้รับเบื้องต้น
ขั้นตอนต่อไป แต่ละคนนำไปคิดคำนวณตามที่ได้ตีความจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
สูตรแรก คือ สูตรของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เห็นตรงกับ กกต. ตั้งแต่ยกร่าง ว่ากฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้นำ 150 ที่นั่ง ของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไปจัดสรรให้พรรคที่ยังได้ ส.ส. ไม่มากกว่าจำนวนที่พึงได้ โดยให้นำตัวเลขของทุกพรรคที่ยังได้ ส.ส.ไม่ถึงตัวเลขที่พึงได้มารวมคำนวณหาสัดส่วนใน 150 ที่นั่ง ซึ่งตัวเลขที่คูณหารออกมาจะมีจุดทศนิยม ให้พรรคที่ได้จำนวนเต็มก่อน และไปพิจารณาจุดทศนิยม จากมากไปหาน้อย ไล่ไปเรื่อยๆ จนครบ 150 ที่นั่ง ซึ่งสูตรนี้จะทำให้มี 27 พรรคการเมือง ได้รับที่นั่ง ส.ส. ในสภา
อีก 2 สูตร ของ 2 อดีต กกต. ที่เสนอคนละสูตร แต่จะได้ ส.ส. จาก 16 พรรคการเมืองเท่ากัน และพรรคเล็กไม่ได้รับที่นั่ง ส.ส.ในสภา
สูตรของนายโคทม อารียา ไม่ให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ ส.ส. 1 ที่นั่ง 71,057 คะแนน ทำให้ 16 พรรคได้ที่นั่ง ส.ส.แต่ไม่ตัดทศนิยมออก
ส่วนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ไม่ให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ ส.ส. 1 ที่นั่ง แต่ตัดทศนิยมทิ้งในรอบ 2
แม้จะมีเปอร์เซ็นต์สูงที่ กกต.จะเลือกใช้สูตรของ กรธ. ในการคิดคำนวณ แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้สูตรใด ก็จะมีผลต่อจำนวนที่นั่ง ส.ส.ของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาในสภา และมีผลต่อหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งทั้งหมดต้องให้ได้ข้อสรุปก่อนที่จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 9 พฤษภาคมนี้. – สำนักข่าวไทย