สำนักข่าวไทย 12 เม.ย. –คณบดีแพทย์ศิริราช เชื่อ แม้ปี 64 ไม่บรรจุ หมอหมอฟัน เป็นข้าราชการ ต้องมีอย่างอื่นมารองรับ เพราะหากตัดสวัสดิการ เช่น รักษาพ่อแม่ ลูก เกรงแม้หมอรักงาน รักคนไข้แต่ห่วงคนในครอบครัว อาจไม่อยู่ในระบบนาน ขณะเดียวกันเชื่อ ระบบเอกชน ไม่สามารถรองรับแพทย์ได้ทั้งหมด
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีมีรายงานว่าคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) แจ้งต่อกระทรวงสาธารณสุข ว่าคปร.มีมติเรื่องการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อรองรับการบรรจุนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ ในปี 2564 เป็นปีสุดท้าย จึงให้กระทรวงทบทวนเกี่ยวกับการเป็นนักศึกษาคู่สัญญาของนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ ว่า คณะแพทยศาสตร์ฯ เป็นหนึ่งในสถาบันที่ทำการผลิตแพทย์ของประเทศ สถานการณ์ในเวลานี้ นักศึกษาที่จบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องไปใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี หลังใช้ทุนเสร็จส่วนหนึ่งมีเป้าหมายอยากเป็นนักวิชาการก็กลับเข้ามาที่โรงเรียนแพทย์เพื่อเป็นนักวิจัย และทำงานททางคลินิก แต่แพทย์ส่วนใหญ่ยังคงเลือกทำงานในพื้นที่ เพราะมีความสุขในการได้ดูแลรักษาผู้ป่วย
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่าแพทย์เหล่านี้ที่ทำงานต่อในพื้นที่ต่างๆ ก็ทำด้วยใจที่อยากทำอะไรดีๆ ให้ประเทศ ขณะเดียวกันเขาก็ห่วงการเจ็บไข้ได้ป่วยของพ่อ แม่ที่อยู่ทางบ้านเหมือนกัน หากระบบเดิม ให้สิทธิสวัสดิการข้าราชการในการดูแลพ่อแม่ เชื่อว่าคนเหล่านี้ก็ไปทำงานได้ด้วยความสุข แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้อยู่ๆ หายไปทันทีเกรงว่าจะมีผลกระทบ เชื่อว่ารัฐหน่วยงานที่วางระบบเรื่องนี้น่าจะมีทางออกระดับหนึ่งกับการที่จะไม่ให้คนเหล่านี้เป็นข้าราชการแล้ว เช่น การคงสิทธิให้คนเหล่านี้สามารถทุ่มเทดูแลคนไข้ ต่างถิ่นได้อย่างสบายใจว่ายังสามารถดูแลพ่อ แม่ได้ด้วย คำพูดว่ายกเลิกการเป็นข้าราชการอาจจะดูสั้นเกินไป แต่อาจจะมีการจ้างงานประเภทอื่นตามมาต้องรอดู เชื่อว่าผู้บริหารประเทศต้องเข้าใจหลักความจริงของคนไปทำงานที่ห่างไกล ซึ่งตนไม่ได้หมายถึงเฉพาะแพทย์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงวิชาชีพอื่นๆ ด้วย
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า หากไม่ให้เป็นข้าราชการแล้ว จะทำให้แพทย์ไหลออกนอกระบบหรือไม่นั้น ต้องชี้แจงว่า ปีหนึ่งๆ มีแพทย์จบประมาณ 3 พันกว่าคน แต่ตำแหน่งในรพ.เอกชนคงไม่มีมากพอขนาดนั้น แต่แทนที่เราจะมานั่งควบคุม สู้ไปทำให้แพทย์ และบุคลากรที่อยู่ในระบบราชการมีความสุขในการทำงาน สามารถดูแลผู้ที่คนเหล่านี้ยังต้องดูแล เป็นการทำงานเชิงบวก แต่มีคนกลุ่มหนึ่งอาจจะสนใจไปอยู่ภาคเอกชน แต่ก็เป็นส่วนน้อย เพราะตำแหน่งในรพ.เอกชนก็ไม่ได้มากมาย สิ่งที่รัฐควรทำคือยกระดับคุณภาพทุกด้านของทุกจังหวัดเพื่อให้คนทำงานห่างไกลบ้านเกิดไม่ต้องห่วงเรื่องการแพทย์ การศึกษา และด้านต่างๆ.-สำนักข่าวไทย