ไทยปลื้มอันดับพลังงานโลกพุ่ง

กรุงเทพฯ 25มี.ค. – อันดับระบบพลังงานของประเทศไต่ขึ้น 3 อันดับไปสู่อันดับที่ 51 ของโลก จากประสิทธิภาพการจัดหาพลังงานที่มั่นคง สนับสนุนเศรษฐกิจและดูแลสิ่งแวดล้อม แต่อันดับยังต่ำกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ ด้าน ปตท.ศึกษาความร่วมมือแลกเปลี่ยนแอลเอ็นจีอาเซียน


นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF (World Economic Forum) เปิดเผยรายงานประจำปี “Global Energy Transitions Index 2019” ซึ่งเป็นการจัดอันดับระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ WEF ได้จัดอันดับระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตประจำปี 2562 โดยไทยได้อันดับที่ 51 ของโลกจากทั้งหมด 115 ประเทศทั่วโลก ซึ่งลำดับดีขึ้นจากปี 2561 ที่ไทยอยู่อันดับที่ 54 เนื่องจากพลังงานของไทยตอบโจทย์ระบบสามเหลี่ยมพลังงานที่สร้างความมั่นคงและประชาชนเข้าถึง  การดูแลสิ่งแวดล้อม และตอบสนองการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเติบโตในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม หากนับในอาเซียนนั้น ไทยเป็นอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ที่ได้อันดับที่ 13 ของโลก และมาเลเซียอยู่ที่อันดับที่ 31 โดยไทยได้รับคำชื่นชมว่ามีความก้าวหน้าเรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(พีดีพี2018) ปี 2561-2580 จะมีสัดส่วนร้อยละ 35 ในอีก 20 ปีข้างหน้าจากปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 14 และยังมีการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วม โดยการเปิดโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูปท็อป) ภาคประชาชนตลอดแผนพีดีพี 10,000 เมกะวัตต์  แต่ไทยยังขาดเรื่องความพร้อมด้านบุคลากร ซึ่งขณะนี้ไทยส่งเสริมให้การพัฒนา โดยเฉพาะในการติดตั้ง ออกแบบ โซลาร์ภาคประชาชนจึงต้องเร่งพัฒนามารองรับ เป็นต้น 


นายโรแบร์โต้ บาคคา ประธานด้านพลังงานและผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตและกรรมการบริหารสภาเศรษฐกิจโลก กล่าวว่า  ไทยจะเป็นประธานอาเซียนปีนี้ ซึ่ง WEF พร้อมจะให้การสนับสนุนแผนพัฒนาความพร้อมสู่ระบบพลังงานในอนาคตอาเซียน โดยจะใช้ดัชนีวัดความพร้อมของระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ควบคู่ไปกับความร่วมมือด้านพลังงานผ่านเวทีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชาติในอาเซียน

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ปตท.ร่วมเสริมสร้างความมั่นคงพลังงานก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  เช่น ในส่วนของก๊าซธรรมชาติมีการเชื่อมโยงท่อก๊าซธรรมชาติรับก๊าซจากทั้งแหล่งในประเทศ และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ หรือแอลเอ็นจี โดยมีการสร้างสถานีรับจ่ายก๊าซฯ ในจังหวัดระยองทั้งคลังมาบตาพุด, หนองแฟบ ส่วนในอนาคตจะสร้างคลังใหม่นำเข้าในพื้นที่ใด ไม่ว่าจะเป็นโครงการความร่วมมือในเมียนมา  การสร้างคลังลอยน้ำในภาคใต้ และการลงทุนโครงการมาบตาพุดระยะที่ 3 นั้น ในเรื่องนี้ต้องรอนโยบายรัฐบาลและต้องรอดูการปรับปรุงแผนก๊าซระยะยาว (GAS PLAN ) ของกระทรวงพลังงาน ว่าจะปรับปรุงอย่างไร ตามแผนพีดีพีฉบับใหม่ ซึ่งมีการใช้ก๊าซฯเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ37 เป็นร้อยละ 53 และมีการใช้ก๊าซในประเทศเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณเสร็จสิ้น และส่งผลให้การนำเข้าแอลเอ็นจีลดลงจากแผนเดิมลดลงจากประมาณ 34 ล้านตันต่อปีในปี 2579 เหลือประมาณ 24 ล้านตัน


นอกจากนี้ การสร้างความมั่นคงด้านก๊าซฯนั้น กลุ่มอาเซียนได้ศึกษาแผนว่าจะร่วมมือกันอย่างไรให้มากขึ้น จากที่มีความเชื่อมโยงด้วยระบบท่อก๊าซฯ ก็ควรจะมีการเชื่อมโยงในลักษณะสัญญาความร่วมมือแบ่งกันในสถานีรับจ่าย(เมอร์มินอล) ระหว่างกัน โดยในขณะนี้ ในอาเซียนมีเทอร์มินอลแอลเอ็นจีแล้ว 4 ประเทศได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย. -สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

อัญเชิญเรือพระที่นั่งกลับพิพิธภัณฑ์

หลังสร้างความตราตรึงให้กับชาวไทยและคนทั้งโลก กับความงดงามของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กองทัพเรือ และกรมศิลปากร เริ่มอัญเชิญเรือพระที่นั่ง และเรือพระราชพิธี กลับเข้าสู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องใช้ความละเอียด รอบคอบ เพราะเรือทุกลำถือเป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดิน

ย้อนรอยเส้นทางชีวิต “บิ๊กโจ๊ก”

เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้วที่เส้นทางตำรวจของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ต้องยุติลง หลังถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน กรณีพัวพันเว็บพนันออนไลน์ จากนี้ชะตาชีวิต “บิ๊กโจ๊ก” ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช. ว่าจะได้กลับมาสวมชุดตำรวจอีกหรือไม่

“ปานเทพ” เปิดหลักฐานสัญญาชัด 71 ล้านเป็นชื่อ “มาดามอ้อย”

“อ.ปานเทพ” เปิดหลักฐานหนังสือสัญญาบอกชัด 71 ล้านบาท เป็นชื่อ “มาดามอ้อย” เปิด 3 รายชื่อให้เร่งตรวจสอบ หวั่นโยกย้ายทรัพย์สิน